นำเทคโนโลยีช่วยเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
กรุงเทพฯ 9 มีนาคม 2558 – เทคโนโลยีได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหลายสิ่ง ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงการดำเนินชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ เทคโนโลยียังได้สร้างงานและอาชีพ รวมถึงทักษะที่นายจ้างต้องการจากแรงงานอีกด้วย ดังนั้น เพื่อเตรียมให้กับเยาวชนของไทยได้มีทักษะการทำงานเพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต วิธีการเรียนการสอนจำเป็นเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน นั่นคือ บทสรุปของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา จากการเสวนาในหัวข้อ “เสริมสร้างทักษะแห่งอนาคต – ทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตจริง” (Building skills for the future – Real Word Problem Solving Skills) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศไทย โดยบริติช เคานซิล และไมโครซอฟท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้เชิงลึกและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสู่ความท้าทายในศตวรรษที่ 21
โดย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ที่ให้เกียรติเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดร. กุศลิน มุสิกุล ผู้อำนวยการสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. มาร์ก วินเดล อาจารย์จากศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลัม และนางสาวเฟลิเซีย บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทไมโครซอฟท์
ความต้องการทักษะแห่งอนาคต
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกและธุรกิจ ส่งผลให้ตลาดแรงงานและทักษะที่นายจ้างต้องการจากแรงงานเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ดร. กุศลิน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษา กล่าวว่า “เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เทคโนโลยีได้สร้างงานใหม่ ๆ ที่ต้องการทักษะที่แตกต่างไปจากเดิม หากเราพิจารณาอาชีพยอดนิยมสิบอันดับแรกในตลาดแรงงานปัจจุบัน เราจะพบว่าเมื่อทศวรรษที่แล้ว หลาย ๆ อาชีพยังไม่มีด้วยซ้ำ เช่น อาชีพขายของทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาชีพใหม่ ๆ เหล่านี้ต้องอาศัยทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เป็นพื้นฐานสำคัญ”
ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21และทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ตำแหน่งงาน อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของแรงงานที่มีทักษะในเรื่องนี้กลับช้ากว่าความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านไอที นางสาวเฟลิเซีย ซึ่งทำงานร่วมกับนักการศึกษา ครู และผู้กำหนดนโยบาย ผ่านโครงการด้านการศึกษาของไมโครซอฟท์ มาเป็นเวลานาน กล่าวว่า “ตลาดแรงงานโลกต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยปัจจุบันตำแหน่งงานมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องการทักษะทางเทคโนโลยี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 77 เปอร์เซ็นต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนในสาขาอาชีพทางไอที ได้เกิดปัญหาจำนวนแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการขึ้นแล้ว และช่องว่างแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีต่อจากนี้”
ผลการวิจัยล่าสุดของ International Data Corporation (IDC) เกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ได้เปิดเผยทักษะ 20 ด้าน ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานที่มีการเติบโตและผลตอบแทนสูง และเป็นที่ต้องการของบริษัทชั้นนำ เช่น งานในสาขาการแพทย์และการพยาบาล สาขาการตลาดและการขาย และสาขาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยทักษะที่องค์การต่าง ๆ ต้องการ เป็นลำดับต้น ๆ คือ ทักษะการสื่อสารด้วยการพูดและการเขียน ทักษะการแก้ปัญหา และความเชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรม ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ (Microsoft Office)นอกจากนั้น ผลการศึกษานี้ยังเสนอว่า บริษัทต่าง ๆ ไม่ได้มองหาพนักงานที่มีทักษะที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังต้องมีความสามารถในการผสมผสานทักษะต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับการทำงานในแต่ละสถานการณ์อีกด้วย
ดร. กุศลิน กล่าวว่า “เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง นักเรียนของเราจึงกำลังเผชิญกับบริบทด้านอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น คำถามที่นักการศึกษาและครูจะต้องช่วยกันขบคิดคือ เราจะพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตและการทำงานในอนาคตได้อย่างไร”
การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลง
เทคโนโลยีทำให้นักการศึกษาและครูไม่เพียง ต้องคิดว่าทักษะใดบ้างที่จำเป็นสำหรับอาชีพงานในอนาคต แต่ยังต้องหาวิธีพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับทักษะ พรสวรรค์ และศักยภาพของนักเรียน ควบคู่ไปกับการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต ทั้งนี้ ผู้เสวนาทั้งสี่ท่านเห็นว่า ในการสอนนักเรียนให้สามารถรับมือกับการทำงานในอนาคต ครูไม่เพียงต้องสอนให้นักเรียนมีความรู้ แต่ยังต้องสอนให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์จริง โดยเป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ การเรียนการสอนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
“เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานและใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะดิจิทัล การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ปัญหา เพื่อให้พวกเขาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ นอกห้องเรียนได้ ซึ่งการที่จะพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องพัฒนา และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน” รศ. นราพร กล่าว
เตรียมพร้อมรับความท้าทายในอนาคต
นางสาวเฟลิเซียมองว่าการเรียนการสอนแบบใหม่ เป็นมากกว่าการติดตั้งเทคโนโลยีสารสนเทศภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนให้ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centred Learning) และเป็นการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีเทคโนโลยีทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้
ครูจำนวนมากกำลังผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนมีทักษะแห่งอนาคต อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคที่สำคัญที่ครูพบนอกจากการขาดแคลนคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนแล้ว ก็คือการฝึกอบรมที่ไม่เพียงพอ โดยพวกเขาพบว่าชั้นเรียนของตนมีนักเรียนเพิ่มขึ้น แต่กลับมีเวลาและได้รับการสนับสนุนน้อยลง
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนเพื่อพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21
“สำหรับการเรียนการสอนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ไมโครซอฟท์ มีเทคโนโลยีคลาวด์ อย่าง Office 365 for Education (ออฟฟิศ 365 เพื่อการศึกษา) ซึ่งจะช่วยพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เหล่านี้ได้โดยตรง ทั้งนี้ Office 365 for Education ช่วยเกื้อหนุนให้การสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนในการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้น Office 365 for Education ยังช่วยให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการศึกษาทางไกลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางสาวเฟลิเซียกล่าว
การฝึกอบรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ครูสามารถพัฒนารูปแบบการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ดร. มาร์ก ซึ่งทำงานในโครงการโปรแกรมการเรียนสอนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ หรือ Inspiring Science ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “ครูต้องการการฝึกอบรมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยควรเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมมีส่วนร่วม มีเวลาในการคิดวิเคราะห์ และประยุกต์สิ่งที่เรียนเพื่อพัฒนาเป็นแผนการสอน และภายหลังการฝึกอบรม ครูต้องการระบบสนับสนุนเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม เป็นวิธีการสอนในห้องเรียนของตน ซึ่งเทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถสนับสนุนครูได้ด้วยฐานข้อมูล และชุมชนออนไลน์ที่ครูสามารถสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนกับครูท่านอื่น ๆ ได้”
“ไมโครซอฟท์ได้ดำเนินโครงการ Partners in Learning เพื่อช่วยให้ครูได้ค้นพบและแลกเปลี่ยนวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างนวัตกรรมและช่วยให้นักเรียนเข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้อบรมครูมาแล้วกว่า 12 ล้านคน และเข้าถึงนักเรียนมากกว่า 200 ล้านคน ใน 119 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 39,000 แห่ง อบรมครูไปแล้วมากกว่า 164,000 คน และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เกินกว่า 8 ล้านคน” นางสาวเฟลิเซียกล่าว
“หากเราต้องการให้นักเรียนมีทักษะอะไร เราก็ต้องเตรียมความพร้อมครูให้มีทักษะเหล่านั้นด้วย ทั้งทักษะด้านไอที การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา” รศ. นราพร สรุป
###
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (NASDAQ “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และหรือประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ (สำหรับสื่อมวลชน):
คุณพรรวี สุรมูล และ คุณภัทร ตันดุลยเสรี
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
โทรศัพท์: 0-2627 3501 ต่อ 110, 109 หรือ 081-735-9213, 083-544-5550
โทรสาร: 0-2627-3510
อีเมล: [email protected] , [email protected]