เหตุผล 4 ข้อที่องค์กรควรคำนึงถึง ก่อนการยุติการสนับสนุน วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003

 |   Pornravee Suramool

Arun Ulag - 2
อรุณ อุลกะรัชกาล ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจคลาวด์และเอนเตอร์ไพรส์ ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก

คุณกล้าขึ้นลิฟท์เก่าๆ ที่บริษัทผู้ผลิตยกเลิกให้บริการบำรุงรักษาไปแล้วหรือไม่? นี่คือคำถามเดียวกันที่ ผู้บริหารระดับ CIO ต้องถามตัวเองว่าจะปล่อยให้องค์กรใช้เทคโนโลยีตกยุค ที่ยังพอใช้งานได้ต่อไปอีกหรือ?

ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ไมโครซอฟท์จะยุติการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 อย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการอัพเดทหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในวินโดวส์รุ่นนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้งานทั่วไปหรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัยก็ตาม เช่นเดียวกับวินโดวส์ เอ็กซ์พี ซึ่งสิ้นสุดการสนับสนุนไปเมื่อเดือนเมษายน 2557 แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันก็คือความซับซ้อนในการอัพเกรด โดยผู้ใช้งานวินโดวส์ เอ็กซ์พี ต้องผจญเพียงแค่ปัญหาการถ่ายโอนแอพพลิเคชั่นไปยังระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่เท่านั้น ในขณะที่การอัพเกรดจากวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 นั้น กินเวลานานกว่า ซับซ้อนกว่า และต้องวางแผนงานโดยละเอียดมากกว่า

มาถึงตรงนี้แล้ว CIO และผู้จัดการศูนย์ข้อมูลหลายท่านอาจเริ่มสงสัยว่าทำไมจึงต้องรีบอัพเกรด ถ้าวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ยังใช้งานได้ดีอยู่? ทำไมต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา หรืออาจถึงกับต้องปิดระบบชั่วคราวเพื่ออัพเกรด หากของเดิมที่มีอยู่นั้นยังไม่เกิดปัญหา?

ซึ่งไม่แปลกใจเลยเมื่อพบว่า CIO หลายท่านในภูมิภาคนี้ยังคงเลือกใช้วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ต่อไป เพราะพวกเขาเชื่อว่าระบบจะไม่เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยหรือปัญหาด้านการผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว CIO กลุ่มนี้มั่นใจว่าข้อมูลและแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ยังคงใช้งานได้ในโลกยุค “mobile-first, cloud-first” ของเรา และผู้บริหารอีกหลายท่านยังเห็นว่าการหลีกเลี่ยงไม่อัพเกรดเซิร์ฟเวอร์จะช่วยให้องค์กรประหยัดการใช้จ่ายได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความเชื่อที่ผิดทั้งสิ้นครับ

โดยทั่วไป การอัพเกรดระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ จะใช้เวลาราว 200 วันจึงจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ขณะนี้ เราเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะยุติการสนับสนุนวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรจะเดินหน้าอัพเกรดระบบของตน ก่อนที่จะสายเกินไป

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น

เราได้รวบรวมความเข้าใจผิดต่างๆ ที่ได้ยินมาจากเหล่า CIO และผู้บริหารศูนย์ข้อมูลในแถบเอเชียแปซิฟิกมาสรุปไว้ตามด้านล่างนี้

  1. มาตรฐาน

ความเชื่อที่ผิด: “การปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจของเรา”

ความเป็นจริง: เซิร์ฟเวอร์ที่ขาดการสนับสนุนอาจทำให้องค์กรไม่สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานและกฎข้อบังคับใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างสาธารณสุขหรือการเงิน ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือมาตรฐาน PCI (Payment Card Industry) ซึ่งธุรกิจทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตาม หากต้องการการรองรับการทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิต

ประโยชน์ของการอัพเกรด: การปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้องค์กรปลอดภัยจากโทษปรับ หรือการสูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าหลายรายที่ต้องการจะรักษามาตรฐานการทำงานของตนเองไว้

  1. ความปลอดภัย

ความเชื่อที่ผิด: “เราไม่เคยมีปัญหาความปลอดภัยมาก่อนเลย และในอนาคตก็คงจะไม่มีเช่นกัน”

ความเป็นจริง: ไมโครซอฟท์ได้ปล่อยอัพเดทสำคัญสำหรับวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ออกมากว่า 30 ครั้งในปี 2556 เพียงปีเดียวเท่านั้น และเมื่อระบบปฏิบัติการอายุ 12 ปีรุ่นนี้พ้นระยะการสนับสนุนไป ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยได้ เมื่อไม่มีอัพเดทจากไมโครซอฟท์มาแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ประโยชน์ของการอัพเกรด: เมื่ออัพเกรดแล้ว คุณจะไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของเซิร์ฟเวอร์อีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะระบบล่มหรือรั่วไหล

  1. ค่าใช้จ่าย

ความเชื่อที่ผิด: “การอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป”

ความเป็นจริง: ถึงแม้ว่าการอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่การเลือกที่จะไม่อัพเกรดจากวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 อาจจะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่สูงยิ่งกว่าในระยะยาว เนื่องจากการสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาของระบบเซิร์ฟเวอร์ที่พ้นระยะการสนับสนุนแล้วนั้น อาจต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมาก (เช่นการซื้อไฟร์วอลล์มาติดตั้งเพิ่มเติม หรือการแบ่งโครงสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องเซิร์ฟเวอร์เก่าเหล่านั้นจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก) นอกจากนี้ องค์กรยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบความมั่นคงของระบบที่ใช้ซอฟต์แวร์เก่า ซึ่งก็เป็นบริการที่มีราคาแพงไม่น้อยเช่นกัน ส่วนบริการสนับสนุนลูกค้าแบบพิเศษที่มักมีราคาในหลักแสนหรือหลักล้าน ก็จะช่วยต่ออายุออกไปได้อีกไม่นานนัก

ประโยชน์ของการอัพเกรด: การอัพเกรดมาใช้ระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์รุ่นล่าสุดสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ งานวิจัยของฟอร์เรสเตอร์ชิ้นหนึ่งระบุว่าลูกค้าที่อัพเกรดมาใช้วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2012 R2 (จากวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008 หรือ 2012) จะสามารถคืนทุนได้ภายในหกเดือน และจะสามารถสร้างผลตอบแทน (เมื่อพิจารณาปัจจัยเสี่ยงแล้ว) ได้ภายในระยะเวลาเพียงสามปี สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างแบบผสม และมีพนักงานกว่า 15,000 คน

  1. ความได้เปรียบในการแข่งขัน

ความเชื่อที่ผิด: “ธุรกิจของเราไม่ต้องการฟีเจอร์ล่าสุดอย่างเทคโนโลยีคลาวด์”

ความเป็นจริง: ระบบปฏิบัติการที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่าสิบปีอย่างวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับโลกเทคโนโลยีในยุค “mobile-first, cloud-first” อย่างในทุกวันนี้ จึงไม่อาจรองรับความต้องการทางธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบคลาวด์ อุปกรณ์พกพาต่างๆ และการทำงานในรูปแบบ Bring Your Own Device (BYOD)

ประโยชน์ของการอัพเกรด: ระบบที่ใช้ซอฟต์แวร์ทันสมัยจะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้งานได้อย่างรวดเร็ว จึงตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี และทำให้องค์กรมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

เหมือนกับที่หลายๆ คนกลัวหมอฟัน องค์กรหลายแห่งยังหวั่นเกรงและรู้สึกถึงความท้าทายจากการที่ต้องอัพเกรดระบบเซิร์ฟเวอร์ของตน แต่ที่สำคัญ การอัพเกรดระบบนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนทิศทางและกลยุทธ์การพัฒนาระบบของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

สำหรับผู้บริหารท่านใดที่ยังไม่ได้เดินหน้าอัพเกรดระบบขององค์กร เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วครับ กับโอกาสที่จะยกระดับโครงสร้างระบบไอทีของท่านให้ทันสมัย พร้อมรองรับเทคโนโลยีคลาวด์ได้ และด้วยการวางแผนโดยละเอียดและเครื่องมือสนับสนุนที่ดี (เช่น ซอฟต์แวร์ AppZero ที่ช่วยถ่ายโอนแอพต่างๆ ของคุณให้ย้ายมาใช้งานกับระบบปฏิบัติการใหม่หรือระบบคลาวด์ได้โดยอัตโนมัติ) ท่านก็สามารถทำให้ขั้นตอนการอัพเกรดจากวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 กลายเป็นเรื่องง่ายๆ และสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาล

คุณรู้หรือไม่?

ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนแบบ mainstream กับระบบปฏิบัติการทุกรุ่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะครอบคลุมการอัพเดทเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในซอฟต์แวร์เป็นระยะเวลาห้าปีเต็ม เมื่อช่วงเวลานี้สิ้นสุดลง ไมโครซอฟท์ก็จะให้การสนับสนุนแบบ extended ต่อไปอีกห้าปี โดยในช่วงเวลานี้ จะมีการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่สำหรับการอัพเดทอื่นๆ จะมีให้เฉพาะกับลูกค้าที่ซื้อบริการสนับสนุนเพิ่มเติมเท่านั้น