คำแปลช่วงเสวนาในหัวข้อ “Public Cloud for Public Good”

 |   Pornravee Suramool

วัน เวลา: วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 เวลา 13.00-14.00 น.
สถานที่: ห้องลอนดอน โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ชั้น 2
ผู้ร่วมสัมมนา:
สัตยา นาเดลลา ซีอีโอ ไมโครซอฟท์
มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA)
ผู้ดำเนินรายการ: ณัฏฐา โกมลวาทิน

Technology for Good_1

ณัฏฐา: คุณสัตยา การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ของคุณ คุณมาด้วยพันธกิจที่สำคัญมากของไมโครซอฟท์ นั่นก็คือ ความต้องการเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนและทุกองค์กรในโลกนี้ให้บรรลุผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก อยากทราบว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้สามารถบรรลุพันธกิจดังกล่าวได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือประชากรโลก อย่างภูมิภาคเอเชีย ที่ประชากร 1 ใน 3 ที่ยังตกอยู่ในความยากจน

สัตยา : ขอบคุณครับ ที่ให้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเอ็นจีโอทุกคนในวันนี้ เมื่อพูดถึงพันธกิจของไมโครซอฟท์ในการ เป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนในโลกบรรลุผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นนั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก สำหรับเราแล้ว ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่เราไม่ได้มองเทคโนโลยี คือ “จุดหมาย” แต่เทคโนโลยี คือวิธีการที่จะนำเราไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ เหตุผล ที่ผมชอบแนวคิดของการเป็นกำลังสำคัญในการสร้างศักยภาพให้ผู้คนบนโลกนี้ การที่เทคโนโลยีอยู่ในมือของมนุษย์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชีวิตมนุษย์และกับองค์กร การใช้เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจและสังคมโลก

ที่ประเทศไทย ผมได้ทราบว่ามีนักพัฒนาได้สร้างแอพพลิเคชั่นให้กับผู้พิการในกรุงเทพฯ โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวช่วยให้คนพิการสามารถหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถานที่ที่พวกเขาเดินทางไปในกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งแอพพลิเคชั่นนั้นเป็นแอพพลิเคชั่นง่ายๆ แต่ลองนึกถึงผลลัพธ์ที่ตามมาสิว่า มันมีความหมายแค่ไหนสำหรับคนพิการ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ พวกเขาสามารถค้นหาห้องน้ำ ร้านอาหาร และสามารถเดินทางไปยังจุดๆ นั้นได้ นั่นคือสิ่งที่เทคโนโลยีช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้คน

รวมไปถึงสิ่งที่คุณมีชัยทำให้กับโรงเรียนของท่าน ผมได้มีโอกาสพูดคุยและถามเกี่ยวกับความใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนหล่านี้ และเด็กคนหนึ่ง บอกว่า อยากเป็นหมอ อีกคนบอกว่าอยากเป็นครู และอีกคนต้องการเป็นเภสัชกร ซึ่งพวกเขาใช้เทคโนโลยี ในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะในการหางานในอนาคตของพวกเขา นั่นคือ ความหมายของการที่เราพยายามเป็นกำลังสำคัญให้กับคนในสังคม ในการใช้เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ณัฏฐา: ขอบคุณค่ะ คุณสัตยา

สำหรับคุณมีชัย เป็นที่ทราบดีว่า ท่านได้ริเริ่มโรงเรียนซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ โดยองค์กรอย่างพีดีเอ (PDA ) คุณมีชัยคิดว่าเทคโนโลยีสามารถเอื้อประโยชน์กับโรงเรียนของคุณได้มากขึ้นอย่างไร

คุณมีชัย: ก่อนเข้าสู่ในเรื่องเทคโนโลยี ผมขอเรียนว่า พีดีเอ ต้องการสร้างโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสามารถช่วยเหลือเรื่องของการพัฒนาสังคมให้กับที่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนมากกว่า 30,000 แห่ง หากเรามีหลักการและใช้เทคโนโลยีมาช่วย เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ

โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากการเป็นแค่โรงเรียนสำหรับเด็กๆ มาเป็นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับทุกคนในชุมชน ของผู้ปกครอง ของปู่ย่าตายาย หากมีใครต้องการที่จะเรียนรู้ ที่จะทำไอศกรีมเราจะหาคนที่ทำเป็นอยู่แล้วมาสอน เรามีเงินให้กู้ยืม

เราต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเด็กๆ และคนในชุมชน เราต้องการฝึกฝนเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นครู โดยเฉพาะครูสอนคอมพิวเตอร์และไอทีซึ่งหายากในปัจจุบัน ซึ่งเด็กๆ สามารถเรียนรู้หรือมีโอกาสทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์หรือพันธมิตรของไมโครซอฟท์ พวกเขาสามารถมีอาชีพในอนาคต

ณัฏฐา: คุณสัตยา คุณได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะให้กับนักพัฒนาในประเทศไทยในวันนี้ และเมื่อ พูดถึงความสำเร็จของประเทศไทย ความยากจนได้ลดลงจาก 67 เปอร์เซ็นต์ในปี 2529 เหลือ 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านการศึกษาที่สูงขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ให้บริการครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในความเห็นของคุณ เทคโนโลยีสามารถมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นได้อย่างไร

สัตยา: ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยได้อย่างแน่นอน ในวัยเด็ก ช่วงปี 1970 ถึงต้นปี 1980 คุณพ่อของผมเคยทำงานที่ ESCAP ที่กรุงเทพฯ ผมเคยเดินทางจากอินเดียในช่วงเวลานั้นเพื่อมาเที่ยวหาคุณพ่อในช่วงวันหยุด ทำให้ผมได้เห็นประเทศไทยจากจุดนั้น ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมาก เห็นได้ถึงการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของสถิติความยากจนในประเทศ ผมขอแสดงความยินดีกับคนไทยและประเทศไทย กับความสำเร็จที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

ในปัจจุบัน เรากำลังพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 หรือปฏิวัติทางดิจิทัล (Digital Revolution) ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกประเทศ ในการสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (economic surplus) คือ การสร้างงานที่มีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน เราภูมิใจมากที่พันธมิตรทางธุรกิจของเราในประเทศไทยกว่า 2,000 ราย ได้ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ สำหรับผมนี่คือ เป้าหมายที่สำคัญมากสำหรับไมโครซอฟท์ ไม่ใช่แค่เราเข้ามาติดต่อกับประเทศนี้เท่านั้น แต่เราต้องการช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศ คุณมีชัยได้แนะนำถึงโอกาสที่พันธมิตรของไมโครซอฟท์ จะสามารถจ้างงานหรือเป็นที่ฝึกงานให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษา นำพวกเขาเข้าสู่อุตสาหกรรมไอทีอย่างจริงจัง

และเมื่อเช้านี้ ผมทีโอกาสได้พบปะกับ สตาร์ทอัพของประเทศไทย สำหรับประเทศใดๆ ก็ตามที่ต้องการจะก้าวสู่การเป็นอินดัสทรี 4.0 จะต้องมี “พลังของการเป็นผู้ประกอบการ” ซึ่งผมเห็นพลังเหล่านี้ในนักพัฒนาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทย พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะหาโซลูชั่นแค่ในประเทศแต่พวกเขามองในระดับโลกที่จะกลายมาเป็นตลาด/ลูกค้าของพวกเขา

โดยเทคโนโลยี อย่าง คลาวด์ สามารถช่วยทำให้ธุรกิจเล็กๆ มีเครื่องมือที่จะช่วยพวกเขาทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หากเทียบกับ 5 หรือ 7 ปีที่แล้ว เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้เฉพาะบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นการทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเท่าเทียมนับว่าเป็นข่าวดีมาก

และด้วยความสามารถของคนไทย ผนวกกับโอกาสในช่วงอินดัสทรี 4.0 จะสามารถนำประเทศสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้

ณัฏฐา: มีอะไรที่คุณเห็นว่าเป็นอุปสรรคสำหรับประเทศไทยหรือไม่

สัตยา: ผมคิดว่าอุปสรรคมีในทุกที่ แต่เราต้องมั่นใจว่าประเทศนั้นๆ ได้ให้ความสำคัญและมีการลงทุนเรื่องการศึกษา มีคนบอกผมว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและได้มีการลงทุนในเรื่องนี้ แต่คุณมีชัยบอกผมว่า ประเทศไทยยังต้องการระบบการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่านี้ อย่างน้อยๆ นี่ ก็คือ สิ่งที่ผมเรียนรู้ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผมอยู่ในประเทศไทย

ณัฐฎา: คุณมีชัยคิดว่า ในส่วนของการศึกษา การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้อย่างไร

คุณมีชัย: ผมต้องการไปไกลกว่าการเป็นผู้ประกอบการ ผมต้องการให้เราเป็น ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ social entrepreneurship เราต้องการให้คนประสบความสำเร็จแล้วรู้จักที่จะแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่แบ่งปันทักษะความสามารถ และหากเราสามารถนำเทคโนโลยี มาช่วยโปรโมทเรื่องนี้ แนวคิดเรื่องประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เราต้องการนำคอนเซ็ปท์นี้ไปยังคนในชนบท เนื่องจากเรื่องนี้ยังจำกัดอยู่ในชุมชนเมือง ปัจจุบันเรามีเด็ก 6 ล้านคน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ของพวกเขาต้องทิ้งลูกไป เพราะไม่มีงานทำ ดังนั้น หากเราสามารถสร้างงานในระดับหมู่บ้านได้ พวกเขาก็ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน

ณัฏฐา: คุณสัตยา คุณคิดว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้ชีวิตผู้คนในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ดีขึ้นได้อย่างไร

สัตยา: ผมรู้สึกประทับใจมาก คือ เด็กนักเรียนที่ผมได้พบและพูดคุยด้วย ผมถามพวกเธอว่าอยากจะทำอาชีพอะไรในอนาคต พวกเธอตอบว่าอยากกลับไปทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งทำให้ผมคิดว่า หากจะเป็นเช่นนั้นได้ สิ่งที่เราควรจะต้องทำ คือ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และมีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้เพื่อการนำไปใช้ที่ถูกต้องและเท่าเทียม (democratizing) กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศได้มากขึ้น ไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงแต่ในเมืองเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของผมและเป็นสิ่งที่พวกเราที่ไมโครซอฟท์ ต้องการทำให้มันเกิดมากขึ้น

with Bamboo School students

ณัฏฐา: คิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนไทยอยากย้ายไปทำงานที่ประเทศอื่นที่พัฒนากว่า อย่างเช่นสิงคโปร์ หรือ ออสเตรเลีย หรืออเมริกา หรือไม่ เทคโนโลยีจะช่วยไม่ให้คนอพยพไปทำงานในต่างประเทศ และช่วยสร้างศักยภาพให้ผู้คนสามารถทำงานในประเทศของตนได้อย่างไรบ้าง

สัตยา: ทุกอย่างกลับมาที่โอกาสทางเศรษฐกิจ หากเราสามารถกระจายโอกาสไปอย่างทั่วถึงและคนสามารถบรรลุความฝันของตนเองได้ ผมมีโอกาสได้ไปประเทศเคนยา และไปในเมืองที่ห่างไกลทางเหนือของเมืองไนโรบี ผมได้พบกับนักเรียนเคนยาในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่ง เขากำลังสอนฟิสิกซ์ทางไกลให้กับลูกของชาวยุโรป ในขณะที่เขาอยู่ที่ประเทศเคนยา สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าโอกาสทางเศรษฐกิจ การมีอาชีพ ที่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่มีพรมแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์พยายามทำให้เกิดขึ้น

ณัฏฐา: คุณมีชัย เราสามารถจะทำให้คนไทย หรือหน่วยงานในประเทศไทยเห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นได้อย่างไร?

คุณมีชัย: ต้องเริ่มปลูกฝังและให้ความสำคัญตั้งแต่ยังเด็ก โดยเริ่มจากโรงเรียนในชุมชน หมู่บ้านก่อน แล้วค่อยขยายไปยังชุมชนต่างๆ ตามมา หรือแม้กระทั่งในกลุ่มคนพิการ หรือนักโทษ กลุ่มผู้อพยพหรือคนไร้สัญชาติที่มีมากกว่า 5 แสนคน ให้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยี

ณัฎฐา: ขอถามคุณสัตยาว่า คุณคิดว่าเพราะอะไรที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จมาจนถึงขนาดนี้ จากเด็กคนหนึ่งจากประเทศอินเดียมาอาศัยอยู่ที่อเมริกา และได้กลายมาเป็นซีอีโอของไมโครซอฟท์

สัตยา: ผมจะไม่สามารถมาถึงทุกวันนี้ได้ หากไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ตอนที่ผมอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 คุณพ่อของผมได้ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกมาให้ผมจากสิงคโปร์ ผมว่าสิ่งนี้คือพื้นฐานที่สำคัญ ทำให้ผมมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในพันธกิจของไมโครซอฟท์ ลองนึกดูว่า คนอย่างผมสามารถเดินทางมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมงานกับไมโครซอฟท์ จากนั้นได้กลายมาเป็นซีอีโอของไมโครซอฟท์ได้ ทั้งหมดก็เป็นเพราะโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และการที่คอมพิวเตอร์เหล่านั้นมีราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ ทำให้ผมสามารถเป็นเจ้าของและสามารถทำความลุ่มหลงและความฝันของผมให้เป็นจริงได้ ซึ่งหากเรามองกลับมาที่เด็กในชนบทของประเทศไทย พวกเราก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานของตน พวกเขาสามารถสร้างธุรกิจของตนเองที่บ้านเกิดของเขา สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ณัฏฐา: คุณเพิ่งประกาศที่เมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าไมโครซอฟท์จะบริจาคเทคโนโลยีคลาวด์ รวมมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและนักวิจัยในสถาบันการศึกษาต่างๆ คุณเห็นประโยชน์ของการบริจาคคลาวด์ในครั้งนี้ อย่างไร

สัตยา: กลับไปที่เรื่องของ social entrepreneurship ซึ่งคุณมีชัยก็ได้กล่าวไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์เองให้ความสำคัญเช่นกันและได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยบิลและเมลินดา ผ่าน Bill & Melinda Gates foundation โดยพนักงานไมโครซอฟท์ ตั้งแต่ปี 2526 ได้บริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 90 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับชุมชน ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายว่า เราจะบริจาคเทคโนโลยีคลาวด์มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันวิจัยในสถานศึกษาต่างๆ กว่า 70,000 แห่งทั่วโลก ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะทำให้สถาบันต่างๆ เหล่านี้สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งในสวีเดนได้ใช้คลาวด์เทคโนโลยีในการตรวจจับโรคความบกพร่องในการอ่าน (dyslexia) ในระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งนั่นคือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี

ณัฏฐา: คุณมีชัย มองว่า ภาคประชาสังคม ควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานของพวกเขา

มีชัย: ไมโครซอฟท์ได้สนับสนุนองค์กรเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เราต้องสนับสนุนให้พวกเขานำเทคโนโลยีไปสอนและเผยแพร่ให้กับคนอื่นๆ และเราต้องแนะนำไมโครซอฟท์ว่ามีสิ่งไหนที่เราต้องการให้เทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุง เนื่องจากพวกเรามีพื้นฐานเทคโนโลยีที่แตกต่างหรืออาจไม่ได้เข้าถึงเทคโนโลยี และเราอยากที่จะก้าวไปข้างหน้าและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผมคิดว่าเอ็นจีโอทุกท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้ รวมถึงไม่ได้นั่งอยู่ในห้องนี้ ต้องมีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้รับประโยชน์จากของขวัญที่ไมโครซอฟท์มอบให้ แต่พวกเขาต้องมีความตั้งใจและพยายามอย่างหนัก

ณัฏฐา: หากพูดถึงหลักการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน ที่คุณสัตยาได้เน้นย้ำมาตลอดว่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นกำลังสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คุณคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้

สัตยา: ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ มีประชากรมากกว่า 65 ล้านคน และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีคนมากมายที่สามารถพ้นจากความยากจนและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มี GDP ที่สูงขึ้น รัฐบาลมีการลงทุนและให้ความสำคัญด้านการศึกษา ดังนั้นประเทศไทยมีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว โดยสิ่งที่อาจจะทำให้เพิ่มขึ้นได้ คือ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมกันมากขึ้น แม้กระทั่งในสหรัฐ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญเหมือนๆ กัน สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็นคือ คนรวย รวยมากขึ้น คนจน จนลง ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศพัฒนาน้อยลง ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถทำได้และมีอนาคตที่สดใสรออยู่