กรุงเทพฯ 1 สิงหาคม 2559 – ทีม PH21 (พีเอชทเวนตี้วัน) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวไทยหลังคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก ในสาขาการพัฒนาเกมจากรายการ Imagine Cup 2016 (อิมเมจิ้น คัพ 2016) เวทีการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมระดับนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นโดยไมโครซอฟท์ ด้วยผลงานเกมสุดสร้างสรรค์ “Timelie” (ไทม์ไลน์)
ความสำเร็จของทีม PH21 ในปีนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีสถิติที่ยอดเยี่ยมในการแข่งขัน Imagine Cup ด้วยตำแหน่งแชมป์โลกในระดับสาขาเป็นครั้งที่ 4 จากการแข่งขันทั้งสิ้น 14 ครั้ง หลังจากที่เคยคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้วในปี พ.ศ. 2550 2553 และ 2555
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในรายการ Imagine Cup 2016 จัดขึ้น ณ เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเยาวชนเจ้าของตำแหน่งแชมป์ระดับประเทศรวมกว่า 35 ทีมจาก 33 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมชิงชัยด้วยการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึงกรรมการรับเชิญกิตติมศักดิ์ อย่าง จอห์น โบเยกา นักแสดงชื่อดังจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์ส ดร. เจนนิเฟอร์ ตั้ง อดีตแชมป์โลก Imagine Cup จากปี 2557 และเคซีย์ แชมเปียน วิศวกรซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ Games, Innovation และ World Citizenship นอกจากโอกาสที่จะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7 ล้านบาท) พร้อมถ้วยรางวัลและโอกาสในการเข้ารับคำปรึกษาและแนะนำแบบตัวต่อตัวกับ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์แล้ว เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกยังมีโอกาสได้เรียนรู้และศึกษาเทคนิคใหม่ๆ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนทักษะด้านการออกแบบซอฟต์แวร์และการพัฒนาธุรกิจอีกด้วย
ทีม PH21 ตัวแทนประเทศไทย ประกอบด้วยนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คน ได้แก่ นายปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ นายคามิน กลยุทธสกุล นายอาชัญ สุนทรอารมณ์ นายพงศธร สันติวัฒนกุล และนายเจษฎา ตรีรุ่งกิจ โดยทั้ง 5 คนได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท) ในฐานะทีมชนะเลิศในสาขาการพัฒนาเกม ด้วยผลงานเกม “Timelie” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศในรายการ Imagine Cup Thailand 2016 มาแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เกม “Timelie” เป็นเกมปริศนาแนวใหม่ที่ใช้หลักการควบคุมเวลามาเป็นกลไกแก้ไขปริศนาต่าง ๆ ภายในเกม โดยผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครได้พร้อมกันสองตัวละคร ได้แก่ เมอร์ซ่าและอัลฟ่า เพื่อเอาชนะอุปสรรคมากมายและหนีออกจากศูนย์วิจัยลับที่เต็มไปด้วยศัตรูอันน่าสะพรึงกลัว ผู้เล่นจะสามารถมองเห็นอนาคตและวางแผนการกระทำต่างๆ รวมทั้งยังสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อให้อนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้เล่นต้องการ พร้อมติดตามเนื้อเรื่องสุดตื่นเต้นที่ยากจะคาดเดา
“ไมโครซอฟท์ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งแชมป์โลกของน้องๆ ทีม PH21 ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของเยาวชนไทยยุคใหม่ในการสร้างสรรค์แนวคิดและนวัตกรรมระดับโลกได้เป็นอย่างดี” นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้มุ่งให้การสนับสนุนกับเยาวชนไทยอย่างเต็มที่เพื่อสร้างเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญอันจะนำไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่ทรงพลัง พร้อมสำหรับการต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นการยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกด้วย”
สตีเวน กุกเกนไฮม์เมอร์ รองประธานฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวอีกว่า “ไมโครซอฟท์เชื่อในพลังของเยาวชนที่ถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาได้สานฝันอันสุดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นความจริง โครงการ Microsoft Imagine ซึ่งครอบคลุมถึงการแข่งขัน Imagine Cup ด้วยนั้น จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ไม่เคยพบเจอจากที่ใดมาก่อน พร้อมด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลกสำหรับการพัฒนาแอพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อให้พวกเขาสามารถเริ่มสร้างอนาคตตั้งแต่วันนี้”
การแข่งขัน Imagine Cup มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนในการแสดงออกทางด้านความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ โดยตลอดการแข่งขันทั้งสิ้น 14 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนเข้าร่วมประชันความสามารถแล้วกว่า 1.65 ล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลก
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความคืบหน้าของทีม PH21 ในการพัฒนาเกม Timelie ได้ที่ https://www.facebook.com/TimelieGame/
สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลก รายการ Imagine Cup 2016 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศรวม ได้แก่ทีม ENTy จากประเทศโรมาเนีย
- สาขา Games
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม PH21 จากประเทศไทย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม None Developers จากประเทศอินโดนีเซีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Tower Up จากประเทศบราซิล
- สาขา Innovation
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ENTy จากประเทศโรมาเนีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Bit Masters จากประเทศศรีลังกา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม HealthX จากประเทศสหรัฐอเมริกา
- World Citizenship
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม AMANDA จากประเทศกรีซ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Night’s Watch จากประเทศตูนีเซีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม InSimu จากประเทศฮังการี