วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 และซิสเต็ม เซ็นเตอร์ 2016 เติมพลังให้ธุรกิจก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ
กรุงเทพฯ 24 มกราคม 2560 – ไมโครซอฟท์ประกาศผลสำรวจผู้บริหารฝ่ายไอทีทั่วเอเชียแปซิฟิกรวม 1,200 คน[1],[2] ใน 12 ประเทศ[3] เผยแนวทางการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การพลิกโฉมธุรกิจในโลกดิจิทัล แม้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการระบบโครงสร้างไอทีแบบเดิมๆ ไปพร้อมกัน โดยพบว่าผู้บริหารกว่า 48% ในภูมิภาคนี้เลือกที่จะใช้งานระบบคลาวด์แบบไฮบริดในอนาคตอันใกล้นี้ แทนระบบคลาวด์แบบสาธารณะหรือคลาวด์ภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขององค์กรให้ตอบสนองต่อความต้องการของโลกธุรกิจยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
ช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ถือเป็นเวลาสำคัญสำหรับผู้บริหารฝ่ายไอทีที่กำลังเดินหน้าตามแผนการองค์กรด้วยโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ทันสมัยและมีพื้นฐานอยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยของ IDC ที่ระบุว่าภายในช่วงปลายปี 2560 กว่า 60% ขององค์กรธุรกิจชั้นนำ 1,000 รายทั่วเอเชียแปซิฟิก จะมีกลยุทธ์เพื่อการพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลเป็นหัวใจหลักขององค์กร
หนทางสู่โลกดิจิทัล: ชัดเจนหรือชวนสับสน?
ทุกวันนี้ ผู้บริหารฝ่ายไอทีต่างต้องพยายามหาความสมดุลระหว่างการบริหารระบบไอทีแบบเก่า การจัดการงบประมาณ และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมรับโลกยุคดิจิทัล ผลสำรวจของไมโครซอฟท์ระบุว่าราว 34% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจในประเทศไทยได้เริ่มต้นเดินหน้าวางระบบไฮบริดคลาวด์แล้ว โดยคาดว่าจำนวนองค์กรที่เลือกใช้เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ในปัจจุบัน องค์กรราว 52% ยังใช้ระบบคลาวด์แบบส่วนตัว และอีก 14% ใช้คลาวด์แบบสาธารณะ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่องค์กรต่างๆ จะเลือกลงทุนในโซลูชั่นไฮบริดคลาวด์ แทนที่จะเลือกใช้คลาวด์ส่วนตัวหรือคลาวด์สาธารณะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้บริหารฝ่ายไอทีในยุคนี้ ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่พวกเขาต่างมองหาความเรียบง่าย
- ผู้บริหารฝ่ายไอทียังคงต้องจัดการกับระบบไอทีแบบเดิมขององค์กร เพื่อให้แอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ยังคงใช้งานได้ และรักษาระบบงานขององค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ
- นวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีคลาวด์กำลังทำให้ความนิยมในการใช้แอพพลิเคชั่นคลาวด์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว พบว่าแต่ละองค์กรในประเทศไทยมีการใช้แอพพลิเคชั่นมากกว่า 409 แอพ (สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 340 แอพ) จึงทำให้ผู้บริหารต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการแอพทั้งหมดนี้
- ผู้บริหารฝ่ายไอทีต้องแบ่งเวลาไปทำงานหลายด้าน โดยใช้เวลาราว 50% ไปกับการบำรุงรักษาระบบ การรักษาระบบงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการทำงานแบบวันต่อวันทั่วไป จึงทำให้มีเวลาสำหรับการยกระดับศักยภาพเชิงดิจิทัลขององค์กรเพียง 27% และได้ทำงานกับผู้บริหารเพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลเพียง 23% เท่านั้น
- สำหรับกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลนั้น องค์กรไทยที่เข้าร่วมการสำรวจนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน มากกว่าการเข้าหาหรือติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การพัฒนาศักยภาพพนักงาน หรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
- ผู้บริหารฝ่ายไอทีในไทยมีความกังวลในประเด็นทักษะด้านไอทีของพนักงานในองค์กร โดยระบุว่า
ทักษะที่จำเป็นที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ด้านความปลอดภัย (59%) การจัดการแอพพลิเคชั่นคลาวด์ (49%) และการวิเคราะห์ข้อมูล (44%)
- ความปลอดภัยยังคงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับภัยร้ายที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารไทยได้สูงสุด ได้แก่
- มัลแวร์และการโจรกรรมข้อมูลจากอาชญากรทางไซเบอร์
- การโจรกรรมข้อมูลโดยพนักงาน
- พนักงานเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนตัวกับเครือข่ายขององค์กร
- โดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรแถบเอเชียแปซิฟิกมีการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบถึง 40 อย่างต่อองค์กร
o ในประเทศไทย 71% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจมองว่าองค์กรของตนยังต้องลงทุนในโซลูชั่นด้านความปลอดภัยของระบบไอทีเพิ่มเติมอีก ขณะที่กว่า 76% มองว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการโซลูชั่นด้านความปลอดภัยจำนวนมากนี้
พลิกโฉมระบบไอทีด้วยเทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์
เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ โดยที่ยังรักษาระบบเดิมที่มีอยู่ไว้ด้วย
จากกลุ่มผู้บริหารฝ่ายไอทีราว 50% ที่เลือกพัฒนาระบบไฮบริดคลาวด์ให้กับองค์กรของตนเป็นอันดับแรก พบว่า 8 จาก 10 คนจะมุ่งเน้นการพัฒนาไฮบริดคลาวด์ที่ทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว โดยใช้เครื่องมือเพียงชุดเดียวในการบริหารจัดการคลาวด์ทุกส่วน
ฌอน ลอยเซลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและพันธมิตร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ไฮบริดคลาวด์เป็นก้าวต่อไปที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกองค์กรในแถบเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ มีงบประมาณด้านดิจิทัลมากน้อยเพียงใด การบริหารจัดการทั้งระบบไอทีในปัจจุบันร่วมกับการพัฒนาระบบเพื่ออนาคตถือเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก และเทคโนโลยีคลาวด์ก็สามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้ด้วยแอพพลิเคชั่นที่เปี่ยมศักยภาพ พร้อมปูทางไปสู่การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการระบบที่ดีกว่าเดิม แอพพลิเคชั่นอัจฉริยะ และระบบวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูง จึงทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสรรสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามเทคโนโลยีคลาวด์ไปได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของไมโครซอฟท์กลับเผยว่าผู้บริหารฝ่ายไอทีในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองแบบเดิมๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ โดยถึงแม้ว่ากว่า 89% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจจะระบุว่าตนเองมีความพร้อมในการย้ายแอพพลิเคชั่นเชิงธุรกิจขององค์กรขึ้นสู่ระบบคลาวด์สาธารณะในอนาคต แต่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริหารกลุ่มนี้กลับระบุว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะจำกัดอยู่เพียงแค่แอพพื้นฐานอย่างอีเมลหรือเว็บไซต์บริษัทเท่านั้น โดยมีเพียง 29% ที่ใช้คลาวด์รองรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและการดำเนินธุรกิจ
มร. ลอยเซลล์ กล่าวเสริมอีกว่า “ผู้บริหารด้านไอทีจะต้องมุ่งยกระดับศักยภาพใน 4 ด้านหลักๆ เพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างมั่นใจ ประการแรกคือการเลือกใช้งานเครื่องมือบริหารระบบที่สามารถรับมือความต้องการด้านความปลอดภัยและความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น ตามมาด้วยการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานระบบขององค์กรด้วยซอฟต์แวร์ที่รองรับทั้งคลาวด์สาธารณะและคลาวด์แบบส่วนตัวจากผู้ให้บริการต่างแบรนด์กัน ส่วนประการที่สามคือการถ่ายโอนระบบสู่โครงสร้างแบบไฮบริดคลาวด์ที่ให้ประโยชน์กับองค์กรได้สูงสุด และประการสุดท้าย คือการใช้คลาวด์ทำงานที่ซับซ้อน เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และปูทางไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด”
ไมโครซอฟท์พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ไฮบริดคลาวด์ ด้วย วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 และ ซิสเต็ม เซ็นเตอร์ 2016
ผู้บริหารฝ่ายไอทีต้องเริ่มวางแผนเพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่โลกดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ โดยมีไฮบริด คลาวด์ เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถรองรับการขยายตัวและการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าที่เคย โดยไม่ส่งผลกระทบกับการควบคุมหรือความปลอดภัยในทุกด้าน
มร. ลอยเซลล์ อธิบายอีกว่า “การเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัลอย่างเต็มตัวถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรส่วนมาก เนื่องจากเราต้องคำนึงถึงระบบไอทีและขั้นตอนการทำงานที่ใช้อยู่เดิมด้วย ผู้บริหารฝ่ายไอทีจะต้องเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับกลยุทธ์ธุรกิจแนวใหม่ในโลกยุคนี้ สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนลูกค้าองค์กรทุกรายและทุกขนาดให้เดินทางสู่จุดหมายได้สำเร็จในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะมีงบลงทุนมากหรือน้อยก็ตาม”
บริการคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานระบบแบบไฮบริดของไมโครซอฟท์ มาพร้อมมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เหนือชั้นและแตกต่าง ครอบคลุมทุกภาคส่วนของการทำงานในทุกระดับ นับตั้งแต่ดีไวซ์ไปจนถึงแอพพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัว วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 และ ซิสเต็ม เซ็นเตอร์ 2016 ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ในการสนับสนุนภาคธุรกิจให้ก้าวสู่โลกดิจิทัล
- วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับโลกยุคคลาวด์ที่พร้อมรองรับระบบงานในปัจจุบันของทุกองค์กร พร้อมประสานเข้ากับเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้ธุรกิจในโลกดิจิทัลสามารถปรับทิศทางสู่ระบบคลาวด์ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยกว่าที่เคย ด้วยนวัตกรรมเปี่ยมศักยภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบความปลอดภัยแบบหลายชั้นที่พร้อมปกป้องระบบจากการจู่โจมและเฝ้าระวังการกระทำต่างๆ ที่น่าสงสัย ฟีเจอร์การทำงาน จัดเก็บข้อมูล และเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านซอฟต์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากไมโครซอฟท์ อาซัวร์ และแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นที่รองรับคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบสำหรับทั้งนักพัฒนาและผู้ใช้
- ซิสเต็ม เซ็นเตอร์ 2016 ช่วยให้องค์กรสามารถวางระบบ ตั้งค่า และบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลแบบเสมือนจริงและโครงสร้างพื้นฐานระบบไฮบริด คลาวด์ได้อย่างง่ายดาย โดยในรุ่นล่าสุดนี้ ซิสเต็ม เซ็นเตอร์มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่หลากหลายที่พร้อมตอบโจทย์ของธุรกิจทุกรูปแบบ นับตั้งต่การจัดสรรทรัพยากรโครงสร้างระบบไปจนถึงการบริหารจัดการงานและบริการด้านไอที โดยหากใช้งานคู่กับ Operations Management Suite แล้ว จะทำให้องค์กรสามารถบริหารระบบคลาวด์หลายๆ ระบบได้พร้อมกันอย่างง่ายดายจากระบบควบคุมเพียงตัวเดียว
ผู้สนใจสามารถทดลองใช้งานซิสเต็ม เซ็นเตอร์ 2016 และ Operations Management Suite พร้อมด้วยวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 รุ่นทดลองได้แล้ววันนี้
[1] ผู้เข้าร่วมการสำรวจ: 55.5% เป็นผู้บริหารที่รับผิดชอบการตัดสินใจด้านไอทีโดยตรง ส่วนอีก 44.5% เป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
[2] ขนาดองค์กร: ผู้เข้าร่วมการสำรวจราว 41% ทำงานในองค์กรที่ใช้พีซี 250-499 เครื่อง ขณะที่ 59% ทำงานให้กับองค์กรที่มีพีซีตั้งแต่ 500 เครื่องขึ้นไป
[3] ประเทศที่ทำการสำรวจ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม