โดย แบรด สมิธ ประธานกรรมการ
เรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอให้ยืนยันได้ว่าโลกของเรากำลังประสบปัญหาด้านมลภาวะจากคาร์บอน ซึ่งต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน คาร์บอนที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศของเราได้กลายเป็นเหมือนผ้าห่มก๊าซที่คอยกักเก็บความร้อนเอาไว้ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกใบนี้ก็เพิ่มขึ้นมาแล้ว 1 องศาเซลเซียส เมื่อพิจารณาหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว หากเราไม่ควบคุมการปล่อยมลภาวะ ขณะที่อุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็จะต้องเผชิญกับหายนะอันใหญ่หลวง
นักวิจัยจากทั่วโลกต่างมีข้อสรุปตรงกันว่ามนุษย์เราได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 2 ล้านล้านเมตริกตันออกสู่ชั้นบรรยากาศ นับตั้งแต่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อกลางทศวรรษ 1700 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของก๊าซทั้งหมดนี้ โดยที่ส่วนใหญ่เป็นก๊าซที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ปริมาณคาร์บอนที่มหาศาลนี้ นับว่ามากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะช่วยดูดซับกลับเข้าสู่ระบบนิเวศได้ และทุก ๆ ปี มนุษย์ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเพิ่มอีกกว่า 50,000 ล้านเมตริกตัน ปัญหาระดับนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะแก้ไขได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า หรือแม้แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อคาร์บอนซึ่งเป็นมลภาวะเหล่านี้กระจายตัวเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ก็จะต้องใช้เวลานับพันปีกว่าที่จะสลายตัวลง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากทุกหนแห่งล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า เราต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยมลภาวะ โดยทุกฝ่ายต่างต้องช่วยกันทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ซึ่งหมายถึงว่ามนุษย์ต้องช่วยกันกำจัดคาร์บอนให้ได้ในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนที่ปล่อยออกไปในแต่ละปี การจะทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริงได้ ต้องอาศัยการเดินหน้าปฏิบัติอย่างจริงจัง ศักยภาพจากเทคโนโลยีใหม่ที่อาจยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน และแนวคิดเชิงนโยบายสาธารณะที่สดใหม่และแตกต่าง เป้าหมายนี้นับเป็นภารกิจที่ท้าทายจนอาจจะยากเกินตัวเสียด้วยซ้ำ แต่วิทยาศาสตร์บอกกับเราว่าเป้าหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับทุกคนบนโลกนี้ และลูกหลานในรุ่นถัด ๆ ไปอีกด้วย
ไมโครซอฟท์ตั้งเป้า สู่สถานะการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี 2030
แน่นอนว่าโลกของเราต้องเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ใครก็ตามที่สามารถเดินหน้าไปได้เร็วกว่าและไกลกว่าเป้าหมายนี้ก็ควรที่จะทำงานให้สุดความสามารถต่อไป ในวันนี้ ไมโครซอฟท์จึงขอประกาศเป้าหมายสุดท้าทาย ภายใต้แผนงานใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากคาร์บอนที่เราปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ (carbon footprint) จนถึงขั้นกำจัดออกไปให้หมดในที่สุด โดยภายในปี 2030 ไมโครซอฟท์จะเป็นองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ (carbon negative) และภายในปี 2050 เราจะกำจัดคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่เราได้เคยปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมนับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1975 ทั้งในทางตรงและทางอ้อมผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้า
หากเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมีแผนงานที่ละเอียดด้วย ในวันนี้ เราได้เริ่มต้นโครงการใหม่ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนของเราลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 โดยครอบคลุมทั้งคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากเราโดยตรง และผ่านทางพันธมิตรทั้งหมดในเครือข่ายของเรา โครงการนี้จะใช้เงินทุนจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึงการขยายค่าธรรมเนียมคาร์บอนในองค์กรของเราเอง ซึ่งริเริ่มขึ้นมาเมื่อปี 2012 และยังผ่านการขึ้นราคามาแล้วเมื่อปีที่แล้ว โดยในอนาคต ค่าธรรมเนียมนี้จะเรียกเก็บทั้งกับการปล่อยคาร์บอนโดยตรงของเราและจากพันธมิตรทางธุรกิจของเราเช่นกัน
ในโอกาสนี้ เรายังได้ประกาศอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์มาช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของซัพพลายเออร์และลูกค้าของเราทั่วโลก พร้อมด้วยการตั้งกองทุนนวัตกรรมด้านสภาพอากาศ มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลด แยก และกำจัดคาร์บอนออกจากสภาพแวดล้อม นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เรายังจะปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อของเราให้มุ่งลดคาร์บอนอย่างเต็มตัว ความคืบหน้าในโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ จะนำมาสรุปและเผยแพร่ในรายงานประจำปีด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเจาะลึกผลกระทบด้านคาร์บอนและเส้นทางของการลดคาร์บอนของเรา นอกจากนี้ เรายังพร้อมออกเสียงสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่จะมีโอกาสช่วยผลักดันการลดและกำจัดคาร์บอนได้
เดินหน้าสู่จุดหมาย ภายใต้แนวทางที่ชัดเจน
ทุกครั้งที่เราหันมาเผชิญกับปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องใหม่ เราจะต้องพยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเสียก่อน แนวคิดนี้เป็นรากฐานสำคัญที่ขับเคลื่อนการทำงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หรือการสร้างจริยธรรมในการพัฒนาและใช้งาน AI ซึ่งแน่นอนว่าเราจะนำแนวคิดนี้มาใช้กับเป้าหมายด้านคาร์บอนของเราเช่นกัน เราได้สรุปแนวทางของเราออกมาเป็น 7 ข้อปฏิบัติสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการทำงานต่อไปในอนาคต ดังนี้
- ใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นรากฐาน – เราจะทำงานโดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ดีที่สุด แม่นยำที่สุด ซึ่งเราจะได้อธิบายต่อไปข้างล่างนี้
- รับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนของเราเอง – เราจะรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนของเราทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าในปี 2030 เราจะสามารถลดการใช้คาร์บอนได้มากกว่าครึ่ง และกำจัดคาร์บอนออกจากสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าปริมาณคาร์บอนที่เราปล่อยออกไปในแต่ละปี
- ลงทุนพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดและกำจัดคาร์บอน – เราจะนำเงินลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจากสินทรัพย์ของเราเองมาใช้ก่อตั้งกองทุนนวัตกรรมด้านสภาพอากาศ (Climate Innovation Fund) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการลดและกำจัดคาร์บอน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนทั้งไมโครซอฟท์เองและโลกของเราให้ร่วมกันก้าวสู่การลดคาร์บอนในสภาพแวดล้อม
- เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าของเราทั่วโลก – หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อช่วยผู้ผลิตและลูกค้าของเราในการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยคาร์บอน
- รับรองความโปร่งใสในทุกขั้นตอน – เราจะเผยแพร่ทุกขั้นตอนในกระบวนการของเราในรายงานประจำปีด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความโปร่งใสตามมาตรฐานการรายงานระดับโลก
- ให้ความเห็นเชิงนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอน – เราจะสนับสนุนนโยบายสาธารณะใหม่ๆ ที่ริเริ่มขึ้นมาเพื่อการลดและกำจัดก๊าซคาร์บอน
- ใช้ศักยภาพของพนักงานของเรา – เราตระหนักดีว่าพนักงานของเรามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพัฒนานวัตกรรม และเราจะมุ่งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้พวกเขาได้สนับสนุนเป้าหมายของเราในด้านนี้
ใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นรากฐาน
ภารกิจขององค์กรเราในการจัดการกับปัญหาด้านคาร์บอนจะต้องมีรากฐานอยู่บนการพัฒนาล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยหลักการพื้นฐานที่สำคัญในเชิงคณิตศาสตร์ โดยเราเชื่อว่าทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ผู้บริโภคทั่วไปไปจนถึงภาคธุรกิจ ควรต้องยึดมั่นในหลักการนี้เช่นกัน
ในบางแง่มุม เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน อย่างในกราฟข้างล่างนี้ที่แสดงให้เห็นว่าความเจริญทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งวัดจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีความเกี่ยวพันกับการใช้พลังงานอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งในอดีตที่ผ่านมาและอนาคตที่กำลังจะมาถึง หากเราจะยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสและความสำเร็จทางทางเศรษฐกิจต่อไป การใช้พลังงานก็น่าจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งสมควรได้รับโอกาสในการเติบโตให้เท่าทันชาติอื่น ๆ ที่พัฒนามาไกลกว่า
ตลอด 2 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนออกมาในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่เคยเป็นมา โดยในอนาคต เราจะต้องหาทางใช้พลังงานในปริมาณที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้
โจทย์นี้ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เมื่อเราพิจารณาถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยผลวิจัยล้วนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุณหภูมิทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้อย่างจริงจังและรวดเร็ว จะมีความเสี่ยงสูงมากที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1 ถึง 4 องศาเซลเซียสภายในช่วงปลายศตวรรษนี้ จนนำไปสู่มหันตภัยอันใหญ่หลวงในที่สุด
หนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของเราก็คือ การที่สังคมในภาพรวมยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังในการลดมลภาวะ เรามองว่าทุกคน ทุกภาคส่วน ต่างก็ต้องเรียนรู้และอยู่กับความเป็นจริงที่เห็นได้จากการคิดคำนวณสถิติเกี่ยวกับคาร์บอน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจได้ว่าปัญหาเรื่องคาร์บอนนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ธุรกิจ หรือองค์กรต่าง ๆ
การทำความเข้าใจที่ว่านี้ มีส่วนหนึ่งที่ไม่ซับซ้อนนักแต่ถือว่าสำคัญมาก นั่นก็คือการที่นักวิทยาศาสตร์แบ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ประเภทที่ 1 การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยตรงจากกิจกรรมที่เราทำ เช่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่เราขับ หรือหากมองในมุมธุรกิจ ก็คือไอเสียจากรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือแม้แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่บริษัทใช้งาน เป็นต้น
- ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อมจากการผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนเพื่อใช้งาน เช่นไฟส่องสว่างภายในบ้าน หรือไฟฟ้าที่จ่ายให้กับอาคารสำนักงาน
- ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อมจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่เรามีส่วนร่วมอยู่ ซึ่งรวมถึงการปล่อยพลังงานจากกระบวนการทำอาหารที่เรารับประทาน การผลิตสินค้าที่เราซื้อ สำหรับภาคธุรกิจ แหล่งของการปล่อยมลภาวะนี้จะขยายวงกว้างออกไปอีกจนครอบคลุมทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทั้งผู้จัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบ วัสดุในอาคาร การเดินทางเพื่อทำธุรกิจของพนักงาน และวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงพลังงานไฟฟ้าที่ลูกค้าอาจจะใช้งานเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเภทที่ 3 นี้ ครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวางกว่ามาก จึงทำให้มีปริมาณมากกว่าประเภทที่ 1 และ 2 รวมกัน
นี่คือเหตุผลว่าเพราะเหตุใด เราถึงต้องวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทั้ง 3 ประเภท สำหรับไมโครซอฟท์เอง ในปีนี้เราคาดว่าจะมีการปล่อยคาร์บอนจำนวน 16 ล้านเมตริกตัน ซึ่งแบ่งเป็นจากประเภทที่ 1 จำนวน 100,000 เมตริกตัน ประเภทที่ 2 จำนวน 4 ล้านเมตริกตัน และที่เหลือ 12 ล้านเมตริกตันมาจากประเภทที่ 3 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่น่าจะคล้ายคลึงกับองค์กรส่วนใหญ่
อีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องคำนึงถึงในด้านการคิดคำนวณเกี่ยวกับคาร์บอน คือความแตกต่างระหว่างคำว่า “carbon neutral” หรือการชดเชยคาร์บอนโดยสมบูรณ์ กับ “net zero” หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งแม้จะฟังดูคล้ายคลึงกัน แต่ที่จริงแล้วแตกต่างกัน
- โดยทั่วไปแล้ว บริษัทต่าง ๆ มักจะพูดว่าตนเองเป็นองค์กร “carbon neutral” เมื่อพวกเขาชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาด้วยการจ่ายเงิน ซึ่งอาจเป็นการจ่ายเพื่อหลบเลี่ยงการลดมลภาวะหรือเพื่อกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศก็เป็นได้ทั้งสิ้น แน่นอนว่าสองจุดประสงค์นี้มีผลที่แตกต่างกันมาก เช่นวิธีหนึ่งในการจ่ายเงินแบบแรก ในรูปของการจ้างให้คนไม่ตัดต้นไม้ในพื้นที่ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งก็คือเป็นเรื่องดี แต่ในขณะเดียวกันการกระทำแบบนี้ก็ทำได้แค่ยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกระทำการที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น และไม่ได้ทำให้เกิดการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดคาร์บอนและสร้างผลดีต่อไปในอนาคต
- ในทางกลับกัน สถานะ “net zero” คือการที่บริษัทกำจัดคาร์บอนออกจากสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนที่ตนเองปล่อยออกไป เรายังต้องใช้คำว่า “net zero” หรือ “สุทธิเป็นศูนย์” แทนที่จะพูดเพียงแค่ “ศูนย์” เพราะว่ายังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ แต่ในปริมาณที่เทียบเท่ากับการกำจัดคาร์บอน ขณะที่การปล่อยคาร์บอนเป็นลบ หรือ “carbon negative” คือการที่บริษัทสามารถกำจัดคาร์บอนได้มากกว่าการปล่อยคาร์บอนในแต่ละปี
ถึงแม้ว่าไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างหนักมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้เราเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่านี่ไม่ใช่เวลาที่จะป่าวประกาศความสำเร็จ แต่เป็นเวลาสำหรับการทำงานต่อไปด้วยความถ่อมตัว และเรายังเชื่อว่าทุกบริษัท ทุกองค์กรบนโลกใบนี้ก็ควรจะมีมุมมองแบบนี้เช่นกัน
เช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ไมโครซอฟท์มาถึงจุดนี้ได้ด้วยการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอน แทนที่จะมุ่งกำจัดคาร์บอนที่ได้ถูกปล่อยไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ เราจึงหันมาปรับเปลี่ยนเป้าหมายของเราเอง เพราะการชดเชยคาร์บอนในรูปแบบนี้ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาให้กับโลกของเราได้อีกต่อไป
ถึงแม้ว่าการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการลงทุนที่เกี่ยวข้องในด้านนี้จะยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราก็ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเริ่มต้นกำจัดคาร์บอนที่ได้ถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว และเราก็เชื่อว่าการลงทุนของเราจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดความคืบหน้าในด้านนี้ได้
นอกจากนี้ เรายังพบอีกหนึ่งข้อบกพร่องที่ทั้งองค์กรของเราเองและบริษัทอื่น ๆ อีกมากจำเป็นต้องแก้ไข ในอดีตที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนในประเภทที่ 1 และ 2 เป็นหลัก แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงประเภทที่ 3 โดยละเอียดนัก นอกจากมลภาวะจากการเดินทางของพนักงาน ดังนั้น เป้าหมายของเราสำหรับปี 2030 จึงครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนเป็นลบในทั้ง 3 ประเภท
รับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนของเราเอง
ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้งหมดนี้ เราจึงประกาศเปิดตัวแผนการลดการปล่อยคาร์บอนของไมโครซอฟท์เองอย่างจริงจัง โดยแผนการนี้มี 3 องค์ประกอบใหญ่ ๆ ด้วยกัน
ในลำดับแรก เราจะลดการปล่อยคาร์บอนในประเภทที่ 1 และ 2 ให้ใกล้เคียงกับศูนย์ที่สุดภายในกลางทศวรรษนี้ด้วยขั้นตอนดังนี้
- ภายในปี 2025 เราจะเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด โดยเราจะมีข้อตกลงในการซื้อพลังงานสะอาดแทนการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งที่มีการปล่อยคาร์บอน ครอบคลุมทั้งศูนย์ข้อมูล อาคาร และสำนักงานทั้งหมด
- ยานพาหนะทุกคันที่ใช้งานในสำนักงานของเราทั่วโลก จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2030
- เราจะพัฒนาสำนักงานของเราในซิลิคอน วัลเลย์ และพิวเจ็ต ซาวนด์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร International Living Future Institute Zero Carbon และมาตรฐาน LEED Platinum
ในลำดับต่อมา เราจะลดการปล่อยคาร์บอนในประเภทที่ 3 ให้ต่ำลงกว่าครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 ด้วยวิธีใหม่ ๆ ดังนี้
- ในเดือนกรกฎาคม 2020 เราจะเริ่มทยอยเก็บภาษีคาร์บอนภายในองค์กรให้ครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนประเภทที่ 3 โดยปัจจุบัน อัตราการเก็บภาษีคาร์บอนของเราสำหรับการปล่อยคาร์บอนประเภทที่ 1 และ 2 รวมถึงมลภาวะประเภทที่ 3 จากการเดินทาง อยู่ที่ราคา 15 เหรียญสหรัฐต่อตัน คาร์บอน ระบบการเก็บภาษีคาร์บอนของเราแตกต่างจากของบางบริษัท เพราะเราเก็บภาษีในรูปแบบที่ไม่ใช่ “ค่าธรรมเนียมหลอก” ที่คำนวณออกมาแต่ไม่ทำการเก็บจริง ค่าธรรมเนียมของเรามีการจ่ายจริง โดยแต่ละแผนกรับผิดชอบตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา และนำยอดเงินที่เก็บได้ไปใช้พัฒนาในด้านความยั่งยืน
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ทุกแผนกและหน่วยงานของเราจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนภายในสำหรับมลภาวะประเภทที่ 3 โดยจะเริ่มเก็บในราคาต่อตันคาร์บอนที่ถูกกว่ากลุ่มอื่น ก่อนจะค่อย ๆ ปรับขึ้นจนมีอัตราเท่ากันในทั้ง 3 ประเภท วิธีนี้ถือเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ทุกแผนกในการลดคาร์บอนประเภทที่ 3 อย่างทั่วถึง และยังช่วยเพิ่มเงินทุนที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการลดคาร์บอนประเภทดังกล่าวและการกำจัดคาร์บอนออกจากสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
- ภายในเดือนกรกฎาคม 2021 เราจะเริ่มใช้กระบวนการและเครื่องมือใหม่ในระบบจัดซื้อ เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ซัพพลายเออร์ของเราลดคาร์บอนในทั้ง 3 ประเภท โดยเราจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการจัดทำระบบรายงานที่สม่ำเสมอและแม่นยำ และมุ่งดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่อ้างอิงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์
สำหรับขั้นตอนที่ 3 ภายในปี 2030 ไมโครซอฟท์จะกำจัดคาร์บอนได้มากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญภายใต้แผนงานที่จะกำจัดคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่บริษัทได้ปล่อยออกมา นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1975 ให้หมดไปภายในปี 2050 เราจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Negative Emission Technologies – NET) ซึ่งอาจรวมถึงการปลูกป่า ฟื้นฟูพื้นที่ป่า การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับธาตุคาร์บอนในดิน การใช้พลังงานชีวมวลที่มีการดักจับและจัดเก็บคาร์บอน (BECCs) และการดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศ (DAC)
ไมโครซอฟท์จะรวบรวมและผสมผสานวิธีการกำจัดคาร์บอนต่าง ๆ ในแต่ละปี โดยประเมินคุณสมบัติของเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนเป็นลบตามมาตรฐาน 4 ข้อต่อไปนี้: (1) นำไปใช้ได้แพร่หลาย (2) คุ้มค่า (3) ทำได้ในท้องตลาดทั่วไป และ (4) ตรวจสอบได้ โดยเมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีและต้นทุนในปัจจุบัน เราจะเริ่มต้นด้วยการเน้นวิธีแก้ปัญหาแบบธรรมชาติ ก่อนจะค่อย ๆ ปรับไปใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความพร้อมในอนาคต ก่อนที่จะถึงปี 2030
การลงทุนพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดและกำจัดคาร์บอน
การแก้ปัญหาคาร์บอนของโลก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ หนึ่งความตั้งใจหลักของเราจึงเป็นการกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดคาร์บอน โดยไมโครซอฟท์จะลงทุนผ่านกองทุนนวัตกรรมด้านสภาพอากาศ (Climate Innovation Fund) เป็นมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า เพื่อสรรสร้างเทคโนโลยีใหม่และขยายการเข้าถึงเงินทุนให้กับนักคิดที่มุ่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ทั่วโลก เราเข้าใจดีว่าเงินจำนวนนี้เป็นแค่ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนจริง ๆ ที่โลกต้องการ แต่เรามีความหวังว่านี่จะเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ หันมาลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ภายใต้แนวทางนี้เช่นเดียวกัน
เราจะนำเงินทุนก้อนนี้มาใช้งานใน 2 รูปแบบด้วยกัน: (1) เร่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน ผ่านการลงทุนในโครงการต่าง ๆ และการให้เงินกู้ และ (2) ลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นและให้เงินทุน
แผนการลงทุนของเราจะพิจารณาจากเกณฑ์หลัก 4 ข้อดังต่อไปนี้: (1) ต้องมีกลยุทธ์ที่สามารถช่วยลดคาร์บอนอย่างชัดเจน ช่วยเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องใดก็ตามที่มีผลต่อความยั่งยืนในระดับที่วัดผลได้ (2) ต้องมีผลต่อการเร่งพัฒนาวิธีการแก้ปัญหา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (3) มีส่วนช่วยไมโครซอฟท์ในการสร้างเทคโนโลยีที่บริษัทสามารถนำไปลบล้างผลกระทบที่เคยก่อให้เกิดกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคตได้ (4) ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา
นอกเหนือจากเงินทุนก้อนนี้ เราจะเดินหน้าลงทุนในระบบตรวจวัดและสร้างโมเดลคาร์บอน ผ่านโครงการ “AI for Earth” ซึ่งได้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีผู้ได้รับเงินทุนสนับสนุนแล้วกว่า 450 รายใน 70 ประเทศทั่วโลก
ให้การสนับสนุนลูกค้าทั่วโลก
เราเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนส่วนที่สำคัญที่สุดของไมโครซอฟท์ในการลดคาร์บอน ไม่ได้มาจากความพยายามของเราเพียงฝ่ายเดียว แต่จะเกิดจากการช่วยเหลือลูกค้าของเราทั่วโลกให้สามารถจัดการกับการปล่อยคาร์บอนของตัวเองได้ ผ่านทั้งบทเรียนและประสบการณ์ที่เราได้พบเจอได้ตนเอง และศักยภาพจาก วิทยาศาสตร์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลของเรา ลูกค้าของเราหลายรายได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นหัวใจหลักของธุรกิจอยู่แล้ว ในขณะที่ลูกค้ารายอื่น ๆ ก็เพิ่งเริ่มต้นที่จะจำกัดการปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าองค์กรเหล่านี้จะอยู่ในขั้นตอนไหนหรือระดับใด เราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือไม่ต่างกัน
การตรวจจับและติดตามคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากคาร์บอนของบริการและสินค้าต่าง ๆ วันนี้ เราได้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ในชื่อ Microsoft Sustainability Calculator ที่จะช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์การปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการใช้บริการคลาวด์แพลตฟอร์ม Azure ผ่านการใช้ Dashboard Power BI เครื่องมือนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าใจผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนที่เกิดผ่านคลาวด์แพลตฟอร์ม และค้นพบประโยชน์จากการย้ายไปใช้คลาวด์แพลตฟอร์มอย่างเต็มตัว ทั้งยังช่วยให้ข้อมูลในการรายงานระดับการปล่อยคาร์บอนจากบริการด้านไอทีภายในองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนในประเภทที่ 3 ที่มักจะนับปริมาณได้ยาก
ถัดจากนั้น เราจะพัฒนาและมอบโซลูชั่นและข้อเสนอใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมกว่าเดิม รวมถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนในประเภทที่ 1 2 และ 3 และการหมุนเวียนของวัสดุและทรัพยากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริการคลาวด์ Azure เราจะเพิ่มความโปร่งใสในด้านข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์และบริการอย่าง Teams บราวเซอร์ Edge และอื่น ๆ โดยมีหลักการและวิธีคิดที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ควบคู่กับความโปร่งใสในด้านผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของทั้งโครงสร้างระบบคลาวด์และห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
นอกจากนี้ เราจะร่วมมือกับบริษัท Vattenfall เพื่อเปิดตัวบริการจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดที่ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกพลังงานสะอาดในรูปแบบที่ต้องการ และควบคุมให้มั่นใจได้ว่าสามารถใช้พลังงานในปริมาณที่เหมาะสมตามเป้าหมาย โดยมี Azure IoT เป็นตัวช่วย ความโปร่งใสในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับรูปแบบพลังงานงานสะอาดที่เลือกใช้ และลดระดับการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าเดิม
เรามุ่งเน้นการขยายความร่วมมือรูปแบบใหม่ ๆ กับลูกค้าของเรา เพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน เช่นการสร้างนวัตกรรมร่วมกันกับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ลดการปล่อยคาร์บอนลง เช่นเดียวกับที่เราได้ร่วมมือกับบริษัท L&T Technology Services บริษัท ABB และบริษัท Johnson Controls เพื่อพัฒนาโซลูชั่นอัจฉริยะสำหรับการบริหารจัดการอาคารอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เรายังพร้อมปลูกฝังแนวคิดด้านความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางธุรกิจ ดังเช่นที่ได้บุกเบิกร่วมไปกับบริษัท AT&T และ บริษัท NTT และผลักดันการร่วมมือระหว่างหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ต่อไป
งานที่รอเราอยู่ข้างหน้า นับเป็นภารกิจที่สำคัญและซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ เพราะเหตุนี้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับลูกค้าทุกคนของเรา รวมถึงกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เพื่อช่วยให้ทุกองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนโลกอนาคตที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องทั่วโลกนั้น จะต้องอาศัยพลังงานที่มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการสนับสนุนให้บริษัทพลังงานก้าวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการหันมาผลิตและใช้งานพลังงานหมุนเวียน หรือการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีที่ช่วยลดระดับคาร์บอนในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศ โดยจะต้องใช้ทุกวิธีที่กล่าวมานี้ร่วมกัน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
การรับรองความโปร่งใสในทุกขั้นตอน
หากเราต้องการลดคาร์บอนในสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องมีความโปร่งใสอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง สำหรับไมโครซอฟท์เอง เราจะยังคงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของบริการและโซลูชั่นของเราเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เราจะสนับสนุนการวางมาตรฐานระดับอุตสาหกรรมที่เข้มงวดในแง่ของความโปร่งใสและการรายงานทั้งระดับการปล่อยและการกำจัดคาร์บอน โดยที่เราจะปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นด้วย
ในโอกาสนี้ เราได้ลงนามในปฏิญญาความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินธุรกิจโดยจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศา (1.5-degree Business Ambition Pledge) โดยเราหวังว่าจะมีบริษัทอีกมากมายมาลงนามร่วมกันในอนาคต เราจะติดตามและเปิดเผยความคืบหน้าของเราในด้านนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ผ่านรายงานความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมประจำปี
การให้ความเห็นเชิงนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอน
เราจะใช้ช่องทางของเราในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชิงนโยบายใน 4 ประเด็นซึ่งเราคิดว่าสามารถช่วยผลักดันความร่วมมือด้านคาร์บอนของทุกภาคส่วนทั่วโลกได้ ดังนี้
- การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานและเชิงประยุกต์เกี่ยวกับคาร์บอนในระดับโลก ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ โดยมีการวางเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจน และประสานงานให้เกิดความร่วมมือข้ามชาติในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการสร้างอนาคตที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
- การกำจัดกรอบข้อบังคับเชิงนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำเทคโนโลยีสำหรับการลดคาร์บอนมาใช้งานและขยายผลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- การนำกลไกการตลาดและราคามาสนับสนุนให้ผู้คนและธุรกิจสามารถทำการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการคาร์บอนได้โดยมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ
- การให้ความรู้ผู้บริโภคผ่านความโปร่งใส โดยใช้มาตรฐานสากลในการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านคาร์บอนของสินค้าและบริการให้ผู้ซื้อได้รับทราบ
การใช้ศักยภาพของพนักงานของเรา
สุดท้ายนี้ เราจะเชิญชวนพนักงานของเราให้นำทั้งแรงกายแรงใจและสติปัญญาของพวกเขามาร่วมสนับสนุนการลดและกำจัดคาร์บอน เช่นเดียวกับการที่เราสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการมอบโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน เราเชื่อว่าความยั่งยืนเป็นจุดมุ่งหมายที่ไม่เพียงเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ให้ข้อมูล และคิดค้นนวัตกรรมที่มีคุณค่าได้ไม่ว่าจะอยู่แผนกใดในองค์กร
เราจะสร้างโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความยั่งยืนอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกิจกรรมที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร หรือการทำงานปกติของแต่ละทีม ในวันนี้ เราได้เปิดตัวเว็บไซต์ภายในองค์กรที่ออกแบบใหม่มาให้พนักงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืน โดยการเรียนรู้และความร่วมมือภายในองค์กรทั้งหมดนี้จะรวบยอดออกมาเป็นส่วนหนึ่งในงานแฮกกาธอนประจำปีของเรา ซึ่งจะมีกิจกรรมและการแข่งขันเพิ่มเติมในด้านการลดและกำจัดคาร์บอนโดยเฉพาะ
ความฝันที่ยิ่งใหญ่ครั้งต่อไปของโลกเรา
การลดคาร์บอนคือเป้าหมายที่โลกของเราจะต้องมุ่งหน้าไปให้ถึง และเราก็เล็งเห็นว่าทั้งลูกค้าและพนักงานของเราต่างก็ต้องการให้เรายึดมั่นในเป้าหมายนี้เช่นกัน ภารกิจนี้นับเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่และความฝันที่ยิ่งใหญ่ของไมโครซอฟท์ และเราก็หวังว่าทุกคนทั่วโลกจะมาร่วมทางฝันนี้ไปกับเรา
การวางเป้าหมายให้ไมโครซอฟท์มีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี 2030 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เราเชื่อว่านี่คือเป้าหมายที่ถูกต้องสำหรับเรา และด้วยความมุ่งมั่นที่ถูกจุดนี่ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ การเรียนรู้และปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในส่วนของเราเองและผ่านการร่วมมือกับผู้อื่นทั่วโลก แม้ว่าการประกาศเป้าหมายรวมถึงโครงการต่าง ๆ ในวันนี้จะมีรายละเอียดและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน แต่เราก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ และเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอีกมากมายเพื่อให้ฝันนี้กลายเป็นจริง และนี่ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำงานให้ลุล่วงไปได้