มุ่งฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่บัณฑิตอาชีวะ 6,000 คน จาก 60 สถาบัน ภายใต้ความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ไมโครซอฟท์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และ LinkedIn ประเทศไทย
กรุงเทพฯ – 3 มีนาคม 2563 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และ LinkedIn ประเทศไทย เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัล “Advancing the Future of Work” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้กับบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่จำนวน 6,000 คน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ด้วยทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการของเหล่านายจ้าง ผ่านการฝึกอบรมอาจารย์จำนวน 120 คน จาก 60 สถาบันการศึกษา ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) พร้อมรับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่ตลาดงาน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์บนเว็บไซต์ Future Ready ASEAN
หนึ่งในวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์คือ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างประโยชน์แก่คนทุกคน ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไมโครซอฟท์จึงร่วมมือกับพันธมิตร 5 หน่วยงาน ในการส่งเสริมทักษะให้กับบัณฑิตอาชีวะ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสอนทักษะเชิงดิจิทัลสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) ด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ 2 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกอบรมการวิเคราะห์ข้อมูล ระยะเวลา 3 วัน โดยเน้นสอนการใช้งาน Excel และ Power BI ขั้นสูง และการฝึกอบรมโค้ดดิ้งเพื่อสร้างแอปพลิเคชัน ระยะเวลา 2 วัน โดยเน้นสอนวิธีการใช้ HTML5 และ CSS
นางสาวจิน ฮี เบ Microsoft Philanthropies Lead ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งการเติบโตเชิงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการเพิ่มผลิตผลในการดำเนินงานและรายได้โดยรวมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการรายงานว่าองค์กรที่นำ AI มาปรับใช้ในเชิงรุกสามารถเพิ่มผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมจากทุกภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 15 ในขณะที่การนำ AI มาปรับใช้นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จากจำนวนร้อยละ 8 ของธุรกิจในปี 2560 สู่ร้อยละ 14 ในปี 2561 ไมโครซอฟท์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตอาชีวะ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีความจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต”
จากผลการศึกษา[1]ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2571 มีภาคอุตสาหกรรมที่ถูกคาดการณ์ว่าจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี AI และการนำเครื่องจักรมาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ (Automation) มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม (ร้อยละ 15) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ร้อยละ 12) ภาคอุตสาหกรรมการค้าส่งและค้าปลึก (ร้อยละ 10) ซึ่งสังเกตได้ว่าล้วนแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรูปแบบเป็นกิจวัตรและการทำงานแบบวนซ้ำ
ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ดีป้า มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในทุกระดับ เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดปัญหาการว่างงาน โดยข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากร (ธันวาคม 2562) พบว่า ผู้ว่างงาน 367,000 คน (จากจำนวนกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38.21 ล้านคน) ผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราว่างงาน ร้อยละ 5.2 และ จำแนกตามระดับการศึกษา มีผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษา 1.48 แสนคน (ร้อยละ 1.8 ) ระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า 0.76 แสนคน (ร้อยละ 1.2) ซึ่งสะท้อนปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่หรือวัยเริ่มทำงานเป็นความท้าทายในการพัฒนา “คนตรงงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะดิจิทัลของนักเรียน นักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาทักษะดิจิทัลบัณฑิตอาชีวะ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และด้านโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน โดยครูอาชีวะจาก 60 สถานศึกษาที่ผ่านโครงการ จะเป็นบุคลากรสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะดิจิทัลสู่นักเรียนอาชีวะ กว่า 6,000 คน ก่อนจบการศึกษา ซึ่งนับเป็นการเตรียมพร้อมของบัณฑิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการลดจำนวนผู้ว่างงานอีกด้วย”
บัณฑิตอาชีวะจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะจากการสอนของบุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) พร้อมโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์บนเว็บไซต์ Future Ready ASEAN ซึ่งถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน และเมื่อจบหลักสูตรการอบรม จะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นการรับรองทักษะเชิงดิจิทัลที่ได้เรียนรู้จากโครงการ ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรทั้ง 6 องค์กร ทั้งยังมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ภายหลังจากจบโครงการทันที
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์, กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า “ในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครมีสถานที่ตั้งอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี และระยอง โดยครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 1,200 โรงงาน ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางแหล่งงานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงาน ทั้งด้านสายการผลิต หัวหน้างาน ช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่สานักงาน และอื่น ๆ จากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ชำนาญการด้านเทคนิคเฉพาะด้าน เพื่อรองรับการเติบโตและปรับตัวเข้าสู่การทำงานในรูปแบบดิจิทัลโดยการใช้หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) ในการผลิตควบคุมคุณภาพการสินค้าและผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องสาคัญ เพื่อยกระดับการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ และหวังว่านิคมอุตสาหรรมอมตะจะได้บุคลากรคุณภาพจากโครงการนี้เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศต่อไป”
นายสิทธิศักดิ์ น้อยสปุ๋ง นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 สาขาอีเล็คทรอนิกส์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า “ตอนนี้ผมกำลังเรียนอยู่สาขาอิเล็คทรอนิกส์ และมีความฝันว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ผมอยากทำงานในแผนกซ่อมบำรุงของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และผมได้สังเกตเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา โรงงานต่างๆ เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น ผมจึงรู้สึกว่าการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นทักษะติดตัวที่มีความสำคัญในการพิจารณารับพนักงานเมื่อไปสมัครงาน เพราะทักษะนั้นสามารถนำไปปรับใช้ในการควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานได้”
นางสาวอรวรี ศรีมายา นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 สาขาคอมพิวเตอร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) กล่าวว่า “หนูคิดว่าทักษะเชิงดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญในการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับตัวเอง และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะเลือกเข้าทำงานมากกว่าผู้อื่น ตอนนี้หนูกำลังศึกษาอยู่ในสาขาคอมพิวเตอร์ และคาดหวังว่าจะได้ทำงานแผนกไอทีในอนาคต จึงคิดว่าทักษะเชิงดิจิทัลที่จะได้รับจากโครงการนี้จะมาช่วยต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เรียนในห้องเรียน และขยายขีดความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้นจากความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนแอปพลิเคชัน”
[1] ที่มา: ผลการศึกษาโดย อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และซิสโก้ (ประจำปี พ.ศ. 2561) ในหัวข้อ เทคโนโลยีและอนาคตของงานในภูมิภาคอาเซียน