“Cloud Economy” พลิกเกมโลกการเงิน เปิดโอกาสการเติบโตให้ผู้ประกอบการทุกขนาด

โดย สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์
รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงิน
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

แค่มองไปรอบตัว ไม่ว่าในหน้าสื่อหรือในที่ทำงานของคุณเอง คนส่วนใหญ่คงพูดได้เต็มปากว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบที่เราใช้ชีวิตและทำงานกันจริง ๆ แต่ขณะเดียวกัน คนทำงานในบางสายก็อาจไม่ได้รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นใหญ่โตอะไรนัก งานด้านการเงินก็เป็นหนึ่งในสายงานที่เข้าข่ายนี้ เพราะหลายคนคงรู้สึกว่างานที่ทำอยู่เปลี่ยนไปแค่เครื่องมือที่ใช้งาน แต่ยังคงมีจุดประสงค์และแนวทางเหมือนเดิม ซึ่งก็คือการสร้างระบบ จัดระเบียบการเงินของบริษัทให้สนับสนุนการทำงานตามเป้าหมายขององค์กรได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ถึงหัวใจสำคัญนี้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่จริงแล้ว ปัจจัยที่คนสายการเงินต้องพิจารณาได้เปลี่ยนไปอยู่ไม่น้อย เพราะเทคโนโลยีอย่างคลาวด์ได้เข้ามาเพิ่มมิติใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการด้านการเงิน พร้อมเปิดประตูให้เงินลงทุนของบริษัทสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นอย่างมหาศาล

จาก CAPEX สู่ OPEX ลดเงินลงทุนก้อนใหญ่ เพิ่มความคล่องตัวและการเติบโต

พลิกกระดานให้บางองค์กรสามารถเปลี่ยนลำดับความสำคัญในการลงทุน จากเดิมที่จำเป็นต้องทุ่มทุนไปกับสินทรัพย์ถาวรขององค์กร หรือ CAPEX เพื่อให้บริษัทมีรากฐานรองรับการเติบโต กลายมาเป็นการเน้น OPEX หรือเม็ดเงินที่หมุนเวียนให้เกิดผลในการทำงานจริงแบบวันต่อวันแทน จนเกิดเป็นมุมมองใหม่ทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เรียกได้ว่า “Cloud Economy” หรือ “เศรษฐกิจแบบคลาวด์”

หากมองจากในเชิงการเงินล้วน ๆ การเปลี่ยนให้องค์กรหันมาใช้คลาวด์จะลดภาระในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีไปอย่างมหาศาล เหลือเพียงแค่ค่าใช้บริการที่ชำระตามปริมาณการใช้งานจริง ซึ่งนอกจากมูลค่าตัวเงินที่ไหลออกจากองค์กรจะลดลงอย่างมากแล้ว ยังตัดประเด็นเรื่องค่าเสื่อมราคาออกไปให้พ้นสารบบ ทั้งยังปรับเพิ่ม-ลดค่าใช้จ่ายได้ตามสถานการณ์และความจำเป็น

Woman in dark jacket speaking in front of backdrop with "Data Economy" written behind

เพิ่มมูลค่าให้ข้อมูล เปลี่ยนรายงานแห้ง ๆ ให้กลายเป็นขุมความรู้ขององค์กร

นอกจากจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการคุมรายจ่ายแล้ว คลาวด์ยังเปิดประตูให้ทุกองค์กรสามารถใช้ข้อมูลทางการเงินให้เป็นประโยชน์มากขึ้น อย่างในกรณีของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายหนึ่ง ที่นำข้อมูลยอดขายอาหารสดมาวิเคราะห์จนตีโจทย์แตกว่าธุรกิจกลุ่มร้านหมูกระทะนับเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่ในแผนกนี้ จึงปรับกลยุทธ์การสต็อกและจัดแสดงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้ยอดขายสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้วยแนวคิดนี้ ข้อมูลทางการเงินของบริษัทจึงมีคุณค่ามากกว่าแค่การบันทึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในองค์กร เปิดโอกาสให้ได้วิเคราะห์หาเหตุผลเบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไปจนถึงคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแนะแนวทางว่าเราควรปรับตัวอย่างไรให้รับมือกับอนาคตนั้นได้ดีที่สุด

ปลดล็อกศักยภาพบุคลากร ยกระดับทักษะจากงานวันต่อวันสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ

การเปิดโอกาสให้บุคลากร ไม่ว่าจะเป็นในฝ่ายการเงินหรือแผนกอื่น ๆ ได้ขยายขอบเขต ลดภาระงานธุรการ หันไปทำงานเชิงวิเคราะห์และกลยุทธ์ที่มีคุณค่ากับองค์กรมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของคุณค้นพบลู่ทางใหม่ ๆ ในการเติบโตก็เป็นได้ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดภาระ-เพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรตรงนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งของ “Cloud Economy” หรือ “เศรษฐกิจแบบคลาวด์”

ที่สำคัญการทำให้ผู้บริหารและบุคลากรสายการเงินได้เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากประสบการณ์จริงคงจะเป็นบทพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือและจับต้องได้ดีกว่าการบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “Digital CFO: บทบาทผู้บริหารในยุค Digital Transformation” ที่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ร่วมกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทยจัดขึ้น โดยได้เชิญผู้บริหารและบุคลากรสายการเงินของลูกค้าองค์กร มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลไปปรับใช้ในทุกส่วนงานของธุรกิจเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะดิจิทัลที่จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการเงิน ในครั้งนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งหนึ่งในเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจไทยคือการได้ฟังที่มาวิธีคิดของเจ้าของกิจการ บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด ซึ่งกำลังเติบโตอย่างสวยงาม ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ที่ดำเนินการโดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ เดอะ ฟินแล็บ เพื่อเรียนรู้ที่จะนำดิจิทัลโซลูชันไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและยั่งยืน

Smiling woman in dark jacketคุณศรินทร พันธุ์โสภา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด ที่ทำธุรกิจรับซื้อและจำหน่ายเศษกระดาษเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษ นับตั้งแต่การผลิตกระดาษทิชชูไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ฉนวนกันความร้อนและไม้ฝา ได้เล่าให้ทุกคนฟังว่าเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในบริษัทคือการเปิดโอกาสให้พนักงานได้สัมผัสกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยตรง แทนที่จะเสียเวลามากมายไปกับการนั่งรวบรวมข้อมูลมาให้คนอื่นวิเคราะห์ และด้วยเครื่องมือบนคลาวด์อย่างระบบวิเคราะห์ข้อมูล Power BI และบริการ Dynamics 365 ที่มาพร้อมกับคุณสมบัติด้าน ERP ครบครัน คุณศรินทรและทีมงานของเพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ก็สามารถมองเห็นสถานการณ์ของบริษัทได้ทะลุปรุโปร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเงิน โลจิสติกส์ และการตลาด โดยจากข้อมูลเหล่านี้ คุณศรินทรคาดว่าจะสามารถช่วยลดรายจ่ายของบริษัทลงได้ไม่ต่ำกว่า 15% และอาจสามารถเพิ่มยอดขายได้สูงถึงเท่าตัวจากโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

เรื่องราวของคุณศรินทรและเพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ตอกย้ำให้เห็นว่าไม่ว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน มีขนาดเท่าใด ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีไม่ต่างกัน และการเปิดรับความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องทำเพื่อความอยู่รอดในการแข่งขัน และเปิดประตูสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า