ไมโครซอฟท์ คลาวด์ และการลดการปล่อยคาร์บอน ภายใต้ความมุ่งมั่นเพื่อสนับสนุนลูกค้าของเรา บนเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดย โนเอลล์ วอลช์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายปฏิบัติการคลาวด์และนวัตกรรม

ความต้องการด้านข้อมูลและบริการดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าปริมาณข้อมูลที่รับส่งผ่านอินเทอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี พ.ศ. 2565 นี้ สำหรับแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์นั้น ก็นับเป็นระบบคลาวด์ที่ได้รับความไว้วางใจให้รองรับประสบการณ์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต บริการด้านความปลอดภัยต่างๆ สถาบันการศึกษาและรัฐบาล ไปจนถึงการพัฒนางานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่มุ่งจัดการกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดของโลก เช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ระบบคลาวด์นี้ มีรากฐานอยู่บนศูนย์ข้อมูลและระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก ในปัจจุบัน ลูกค้าได้รับผลประโยชน์อยู่แล้วจากศักยภาพของคลาวด์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ที่จำเป็นต่อการรองรับความต้องการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ของโลกทั้งใบ แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้งานคลาวด์ที่มากขึ้นก็ทำให้มีความต้องการศูนย์ข้อมูลในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งแต่ละศูนย์ก็ต้องใช้งานทั้งพลังงาน ที่ดิน และน้ำ ดังนั้น ไมโครซอฟท์และอุตสาหกรรมคลาวด์ในภาพรวมจึงเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ นั่นคือการขยายศักยภาพด้านคอมพิวติ้ง (computing power) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การวิจัย และโอกาสเชิงเศรษฐกิจที่เท่าเทียม ควบคู่ไปกับการช่วยอนุรักษ์โลก ในฐานะบ้านหนึ่งเดียวของเราทุกคน

ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่สถานะ carbon negative หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี พ.ศ. 2573 ก่อนที่ภายในปี พ.ศ. 2593 จะเดินหน้ากำจัดมลภาวะคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่บริษัทเคยปล่อยออกไป ทั้งแบบทางตรงและผ่านการใช้งานพลังงาน นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี พ.ศ. 2518 และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ศูนย์ข้อมูลจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชันเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนในวงกว้าง เพราะภารกิจการยับยั้งปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศของโลกนั้น ไม่อาจแก้ไขได้โดยบริษัทเดียวหรืออุตสาหกรรมเดียวตามลำพัง

ในโอกาสนี้ เราจะแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์ของเรา ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างผลกระทบในวงกว้าง ผ่านการสนับสนุนลูกค้าและพันธมิตรด้วยเครื่องมือในการประเมินความคืบหน้าของงานด้านสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติการของศูนย์ข้อมูลของเราเอง รวมถึงซัพพลายเชนที่ลูกค้าของเราต้องพึ่งพา ยิ่งไปกว่านั้น เรายังมุ่งค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ขยายกรอบความคิดในการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับแนวทางการออกแบบและปฏิบัติงานของศูนย์ข้อมูลในอนาคต

การพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่ยั่งยืนของเรา สู่อนาคตที่มีสภาพการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ

ขณะที่เรายังขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้งานระบบคลาวด์ที่เพิ่มขึ้น จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เราก็ต้องนำทรัพยากรมาลงทุนเพื่อค้นคว้าหาโซลูชันที่สร้างสรรค์สำหรับปัญหาด้านวิศวกรรมและการปฏิบัติการในศูนย์ข้อมูล เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ การลงทุนของเราในด้านการวิจัยและพัฒนาศูนย์ข้อมูลได้ช่วยให้เราจัดการกับโจทย์ที่ท้าทายในการลดการปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของการก่อสร้างหรือการปฏิบัติการ ลดหรือหยุดการใช้น้ำเพื่อทำความเย็นให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการนำชิ้นส่วนเซิร์ฟเวอร์กลับมาใช้ใหม่ และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่รอบๆ ศูนย์ข้อมูลของเราได้อย่างยั่งยืน พันธกิจของเราไม่ได้จำกัดอยู่ที่การมองหาวิธีการเพื่อพัฒนาการทำงานในศูนย์ข้อมูลของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแบ่งปันองก์ความรู้เหล่านี้ในวงกว้างยิ่งขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมคลาวด์และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง

ในโอกาสนี้ เรามีความคืบหน้าในโครงการสำคัญๆ มาประกาศให้ได้ทราบกัน โดยโครงการทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความรู้ความเข้าใจที่มีคุณค่า เปิดโอกาสให้เรานำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานในปัจจุบัน และกำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคตของศูนย์ข้อมูลได้อีกด้วย

  • ตั้งเป้าลดการใช้น้ำในการปฏิบัติการของศูนย์ข้อมูล 95 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2567: ความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการก้าวสู่สถานะ “water positive” หรือการคืนน้ำสะอาดสู่สภาพแวดล้อมให้มากกว่าปริมาณที่นำมาใช้ ภายในปี พ.ศ. 2573 ส่งผลให้เราจำเป็นต้องพิจารณาการปฏิบัติการของเราอย่างรอบด้านเพื่อลดและกำจัดการใช้น้ำ ในโอกาสนี้ เราได้ประกาศถึงกลยุทธ์ใหม่ในการจัดการอุณหภูมิในศูนย์ข้อมูลที่จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ถูกใช้งานในศูนย์ข้อมูลของเราทั่วโลก ซึ่งใช้ระบบการทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำ ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2567 หรือประมาณ 5.7 พันล้านลิตรต่อปี จากการวิจัยโดยละเอียดของเราในด้านประสิทธิภาพการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ในสภาวะอุณหภูมิสูง ทำให้เราสามารถกำหนดค่าอุณหภูมิและสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นใช้ระบบทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มทำงานที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงรักษาทั้งสมรรถนะและความเสถียรของระบบไว้เช่นเคย เรามุ่งหวังว่าโครงการนี้จะถูกดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ. 2567 โดยมีความเป็นไปได้ที่งานวิจัยนี้จะนำไปสู่การเลิกใช้น้ำทำความเย็นที่ศูนย์ข้อมูในโซนต่างๆ เช่น กรุงอัมสเตอร์ดัม กรุงดับลิน รัฐเวอร์จิเนีย และเมืองชิคาโก และยังอาจลดการใช้น้ำในพื้นที่ทะเลทรายเช่นรัฐแอริโซนาได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์
  • การวิจัยเทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่ในของเหลว เพื่อแทนที่การทำความเย็นด้วยน้ำ: ในปีนี้ เราได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่ (liquid cooling) ซึ่งทำให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายแรกที่ใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่แบบ 2 ขั้นตอน (two-phase liquid immersion cooling) ในสภาพการใช้งานจริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งานในวงกว้างยิ่งขึ้นในศูนย์ข้อมูลของเรา โดยการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่ครั้งล่าสุดของเรายังนำมาซึ่งแนวคิดของการโอเวอร์คล็อก (overclocking) หรือการใช้งานชิปด้วยกำลังไฟ อุณหภูมิ และประสิทธิภาพที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งจากผลการทดสอบ เราได้ค้นพบว่าชิปเซ็ตบางประเภทสามารถโอเวอร์คล็อกให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงการใช้งานเพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชิปมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับงาน AI และ ML ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการใช้พลังงานและการทำความเย็น เราจึงสามารถปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการออกแบบตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับศูนย์ข้อมูลได้อีกด้วย โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยการแช่ได้ปูทางในการจัดเก็บเซิร์ฟเวอร์ในปริมาณเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งหมายถึงการใช้งานพื้นที่ต่อตารางฟุตอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้นในศูนย์ข้อมูล หรืออาจทำให้สามารถสร้างศูนย์ข้อมูลที่มีขนาดเล็กลงในทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
  • การออกแบบศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศท้องถิ่น: เรามีศูนย์ข้อมูลที่ปฏิบัติการอยู่ทั่วโลก โดยแต่ละพื้นที่ก็มีระบบนิเวศ อุณหภูมิ และสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศในแต่ละท้องที่ ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศนั้นเสียก่อน ไมโครซอฟท์ได้เริ่มทำการวัดและเปรียบเทียบเกณฑ์มาตรฐานด้านผลกระทบกับระบบนิเวศ ณ ศูนย์ข้อมูลใน 12 ภูมิภาค โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้ จากการวิจัยดังกล่าว เราได้วัดสมรรถนะของระบบนิเวศในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ อากาศ ก๊าซคาร์บอน สภาพภูมิอากาศ คุณภาพดิน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายของเราคือการสร้างการหมุนเวียนและชุบชีวิตใหม่ให้กับพื้นที่โดยรอบเพื่อให้เราสามารถฟื้นฟูและสร้างเส้นทางในการมอบคุณค่าแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้แก่ชุมชนและสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ผลการศึกษาจากการวิจัยครั้งนี้ได้ช่วยให้เราสามารถให้คำแนะนำกับหนึ่งในโครงการแรกของเราในฮอลแลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคศูนย์ข้อมูลในกรุงอัมสเตอร์ดัมของเรา ในขั้นตอนเริ่มต้น เราจะสร้างพื้นที่ป่าราบลุ่มรอบๆ ศูนย์ข้อมูล และพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำและพืช เหมาะแก่การกรองน้ำที่มาจากพายุและน้ำที่ไหลผ่านด้วยวิธีธรรมชาติ ผลลัพธ์จากการดำเนินงานด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันได้บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของระบบนิเวศสามารถได้รับการฟื้นฟูสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เรายังคงต้องดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ก็สร้างกำลังใจได้ไม่น้อยให้เราเดินหน้าต่อไปสู่เป้าหมาย
  • การลดรอยเท้าคาร์บอนในการออกแบบและก่อสร้างศูนย์ข้อมูล: ข้อมูลล่าสุดจาก Global Alliance for Buildings and Construction ระบุว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการปฏิบัติการมีค่าเท่ากับ 11 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการขั้นตอนการเลือกใช้วัสดุและการก่อสร้างตลอดอายุการใช้งานของอาคารหรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาร์บอนที่มาจากขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่มาจากคอนกรีตและเหล็ก และจากการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่น้อยกว่า เราจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากอาคารสร้างใหม่ทั้งหมดได้อย่างมีนัยสำคัญ เรากำลังดำเนินงานตามแผนในการสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ราว 50-100 แห่งต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพื่อลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ เราได้ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Embodied Carbon in Construction Calculator หรือ EC3 ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีชื่อว่า Building Transparency ในก้าวเริ่มต้นที่สำคัญของศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ทั้งหมด เราได้กำหนดให้ทีมก่อสร้างของเราใช้เครื่องมือ EC3 นี้เพื่อเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอนในขั้นตอนการปฏิบัติการ โดยการใช้งานเครื่องมือ EC3 ทำให้เราได้พบโอกาสในการลดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากการใช้คอนกรีตและเหล็กได้ถึง 30-60 เปอร์เซ็นต์ 

เป้าหมายของเราคือการเร่งการนำวัสดุที่ลดการปล่อยคาร์บอนไปใช้ โดยไม่จำกัดเพียงที่ไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่เป็นทั่วทั้งอุตสาหกรรม และเรากำลังลงทุนในการวิจัยเพื่อหาวัสดุที่ยั่งยืนในการสร้างรากฐาน โครงสร้าง และพื้น ผนัง เพดาน ที่สนับสนุนสถาปัตยกรรมแบบไร้มลภาวะ ตัวอย่างเช่น เราได้ดำเนินงานร่วมกับ Carbon Leadership Forum หรือ CLF องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านวิชาการในอุตสาหกรรม ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เราได้ร่วมมือกันในการตีพิมพ์ผลการศึกษาที่สำรวจวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณน้อย 6 ประเภท ได้แก่ แผ่นพื้นดินเผา (earthen slabs) แผ่นพื้นคอนกรีตที่ไม่ใช่ปูนซีเมนต์แบบพอร์ตแลนด์ (non-portland cement concrete slabs) อิฐและแผงวัสดุที่ทำมาจากสาหร่าย (algae-grown bricks/panels) ท่อโครงสร้างที่ทำมาจากไมซีเลียม (mycelium) หรือเห็ด ไฟเบอร์ที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้งานแบบเฉพาะทางในการก่อสร้าง (purpose-grown fiber) และแผงวัสดุที่ทำมาจากขยะทางเกษตรกรรม (agricultural waste panels) ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและเปลี่ยนแปลงความคิดด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการก่อสร้าง การทดสอบของเราจะทำขึ้นในช่วงฤดูหนาวเพื่อพิสูจน์ความทนทานของศูนย์ข้อมูลและประเภทอาคารอื่นๆ และเราจะแบ่งปันองค์ความรู้ของเรากับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเพื่อนำไปใช้งานต่อ ในท้ายที่สุดนี้ เรายังได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานของเราที่ Microsoft Research ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดตัวโครงการ Project Zerix ภายใต้วัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากขั้นตอนการปฏิบัติการให้เป็นศูนย์ และลดขยะในศูนย์ข้อมูลต่างๆ ให้เป็นศูนย์เช่นกัน ผ่านการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แผ่นวงจรที่ออกแบบและผลิตเพื่อความยั่งยืน และไบโอคอนกรีต

ความคืบหน้าในการดำเนินงานของเรา

ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ปัจจุบันเกิดขึ้นได้จากการลงทุนของเราในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อการพัฒนาศูนย์ข้อมูลขั้นสูง ควบคู่ไปกับการร่วมพัฒนาโซลูชันบนคลาวด์และเครื่องมือต่างๆ กับพันธมิตรของเรา ก่อนจะนำมาใช้ได้ทั้งในการทำงานของเราโดยตรง และนำไปเผยแพร่ให้ใช้งานกันในตลาดอีกด้วย สำหรับไฮไลท์ความสำเร็จครั้งสำคัญของเราในระยะหลัง มีดังต่อไปนี้

  • พลังงานหมุนเวียนและการลดคาร์บอนจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า: ในเดือนกรกฎาคม เราได้ขยายความมุ่งมั่นของเราในการใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2568 ด้วยการเพิ่มเป้าหมายใหม่ให้การใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของเราในทุกชั่วขณะ มาจากแหล่งไฟฟ้าที่มีระดับการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือที่เราเรียกว่า เป้าหมาย “100/100/0” ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ลงนามในข้อตกลงในการจัดซื้อพลังงานทดแทนประมาณ 8 กิกะวัตต์จาก 10 ประเทศทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมถึงข้อตกลงในการจัดซื้อพลังงานกว่า 35 ข้อตกลง โดยรวมถึง 15 ข้อตกลงในยุโรป เช่น ในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน สเปน สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ การจัดซื้อในครั้งนี้ส่งผลให้เรามีโครงการพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบสัญญาในอนาคตและที่กำลังดำเนินงานอยู่ รวมถึง 7.8 กิกะวัตต์ทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Bloomberg NEF ระบุว่าความคืบหน้าของการดำเนินงานในครั้งนี้ทำให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้จัดซื้อพลังงานหมุนเวียนระดับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2564 และแน่นอนว่าเราจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้
  • Microsoft Circular Center: เราได้สร้าง Microsoft Circular Center ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถยืดอายุการใช้งานและนำเซิร์ฟเวอร์กลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะได้ นอกจากนี้ เรายังได้เปิดตัวศูนย์หมุนเวียนในกรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Circular Center) พร้อมวางแผนที่จะสร้างศูนย์หมุนเวียนเพิ่มเติมในบอยด์ตัน กรุงดับลิน ชิคาโก และสิงคโปร์ ในปีงบประมาณหน้า ในปี พ.ศ. 2563 ตามที่เราได้รับการงานจาก CDP ซัพพลายเออร์อันดับต้นๆ ของเราได้ลดรอยเท้าคาร์บอนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมถึง 21 ล้านเมตริกตัน ในปีหน้า เรายังจะขยายโมเดลการทำงานนี้ไปใช้กับสินทรัพย์ด้านคลาวด์คอมพิวติ้งของเราทั้งหมด และดำเนินงานตามเป้าหมายในการนำอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์กลับมาใช้งานใหม่ด้วยอัตราถึง 90 เปอร์เซ็นต์
  • การรับรองมาตรฐาน LEED: เรามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ศูนย์ข้อมูลของเราทุกแห่งผ่านการรับรองศูนย์มาตรฐาน LEED (Leadership in Energy & Environmental) ในระดับโกลด์ (Gold) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาคารของเรามีประสิทธิภาพทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและทรัพยากร โดยภูมิภาคศูนย์ข้อมูลในรัฐแอริโซนาของเรา ซึ่งถูกเปิดตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้รับการรับรอง LEED ในระดับโกลด์ไปแล้ว 
  • การเตรียมความพร้อมเพื่อใช้งานพลังงานหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง: เรากำลังสร้างหนึ่งในภูมิภาคคลาวด์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศสวีเดน โดยวางแผนที่จะเปิดตัวภายในปีนี้ และจะเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรกที่ใช้โซลูชันการตรวจสอบพลังงานรายชั่วโมง ซึ่งเราได้สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับ Vattenfall พันธมิตรของเรา gเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราได้ใช้พลังงานหมุนเวียนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ชั่วโมง โดยโซลูชันดังกล่าวยังพร้อมให้บริการกับลูกค้าของ Vattenfall แล้วอีกด้วย 
  • ทำงานร่วมกับซัพพลายเชนระบบคลาวด์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนระดับ 3: เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในระดับ 3 (scope 3 emissions) หรือการปล่อยคาร์บอนทางอ้อมทั้งหมดที่มาจากการปฏิบัติการ ซัพพลายเออร์ชั้นนำของเราได้รายงานว่าพวกเขาได้ลดรอยเท้าคาร์บอนโดยรวม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณถึง 2 ล้านเมตริกตัน และประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 1.47 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามข้อมูลจากผลการรายงานครั้งล่าสุดของ Carbon Disclosure Project หรือ CDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เราได้เพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ในโครงการ และเพิ่มความมุ่งมั่นในการดำเนินงาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการสานต่อการดำเนินงานที่ได้กล่าวไปข้างต้นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในระดับ 3 ในการออกแบบและก่อสร้างศูนย์ข้อมูลของเรา ผ่านทางการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอนลง

ขอแนะนำ Microsoft Cloud for Sustainability รุ่น Public Preview

นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของระบบคลาวด์เหล่านี้แล้ว ในวันนี้ เรายังมีความยินดีที่จะได้ประกาศเปิดตัว Microsoft Cloud for Sustainability แบบ Public Preview ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ สามารถบันทึก รายงาน และลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเข้าใจดีว่าการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้นั้นเป็นเรื่องยาก และโลกของเราก็ต้องการมาตรฐานที่เป็นพื้นฐานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าการลดการปล่อยคาร์บอนจะถูกวัดผลอย่างแม่นยำ สม่ำเสมอ และเชื่อถือได้ทั่วโลก รวมถึงนวัตกรรมเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเรา

จากการร่วมมือกับพันธมิตรและลูกค้าของเรา เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเปิดประตูไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นลบได้สำเร็จ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เราจำเป็นต้องร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และความคืบหน้าของการดำเนิน และสร้างสรรค์เครื่องมือและโซลูชันใหม่ๆ เพื่อประเมินว่าเราอยู่ที่จุดใดในปัจจุบัน พร้อมทั้งวัดผลความคืบหน้า และเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติการและความมุ่งมั่นของศูนย์ข้อมูลของเราในวันนี้ กรุณาเยี่ยมชม microsoft.com/sustainability และเข้าร่วมทัวร์ศูนย์ข้อมูลแบบเสมือนจริงได้ที่นี่