ไมโครซอฟท์และวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู เปิดตัวเครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก

เครือข่ายที่นำผู้นำจากภาครัฐและภาคเอกชนใน 7 ประเทศมารวมตัวกัน เพื่อสำรวจแนวคิดเชิงนโยบายในยุคแห่งคลาวด์และนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เอเชียแปซิฟิก – 1 ธันวาคม 2564 – วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยูแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ ไมโครซอฟท์ ได้เปิดตัวเครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก (APAC Leaders Digital Alliance) อย่างเป็นทางการในวันนี้

ในโอกาสนี้ สมาชิกของเครือข่ายได้จัดการประชุมครั้งแรกขึ้นภายใต้แนวคิด “Digital for Growth: Harnessing the Power of Data for National Recovery” หรือการนำข้อมูลดิจิทัลมาขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ธนาคารโลก ไอดีซี และไมโครซอฟท์เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือแนวคิดด้านการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์รวม และการวางกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจที่มีข้อมูลเป็นรากฐานสำคัญ นอกจากนี้ ผู้นำจากหน่วยงานภาครัฐยังมีโอกาสได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานและความสำคัญของทักษะดิจิทัลในภาคราชการอีกด้วย

“การจัดตั้งเครือข่ายนี้ขึ้น นับว่าเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่ง และยังเป็นความร่วมมือในรูปแบบนี้ครั้งแรกสำหรับไมโครซอฟท์อีกด้วย ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกล้วนตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการสร้างงาน คงความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่เข้าขั้นวิกฤต โดยที่ผ่านมา เราได้นำแนวคิดที่มุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลักมาปรับใช้ในตลาดหลายแห่งของเรา เช่นเมื่อช่วงต้นปี ที่เราได้เปิดตัวโครงการ Berdayakan Indonesia และ Bersama Malaysia เพื่อสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ควบคู่ไปกับการสร้างทักษะให้ผู้คนนับล้านในทั้งสองประเทศอีกด้วย เราเชื่อว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ผู้นำจากรัฐบาลจะมารวมตัวกันเพื่อวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการฟื้นตัวให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะต่อไป” ฌอง-ฟิลลิปป์ คูร์ตัวส์ รองประธานกรรมการบริหารและประธานกลุ่มความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับชาติของไมโครซอฟท์ กล่าว

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยีกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วนของสังคม และเราก็เชื่อว่าทรัพยากรข้อมูลและเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูและเติบโตต่อไปได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกันอย่างเสมอภาค และเสริมความแข็งแกร่ง คล่องตัวให้กับสังคมที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีกรอบนโยบายและมาตรฐานที่ลงตัว สอดรับกับจุดมุ่งหมายเหล่านี้ การรวมตัวของผู้นำจากทั่วทั้งภูมิภาคนี้จะช่วยเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้นำแนวปฏิบัติดีๆ มาแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และพัฒนาต่อยอด เพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยและชาติอื่นๆ ได้ยกระดับศักยภาพต่อไปในอนาคต”

เร่งขับเคลื่อนการฟื้นฟู เสริมศักยภาพการปรับตัวของประเทศ ด้วยคลาวด์และ AI

จากการสำรวจโดย Economist Intelligence Unit เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า บุคลากรภาครัฐ 8 จาก 10 คนที่เข้าร่วมการสำรวจ เห็นว่ามีการลงทุนในด้านดิจิทัลมากขึ้น หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยพวกเขาต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการ Digital Transformation ที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

“สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงเทรนด์ใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลในชีวิตของเรา ซึ่งก็คือความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลให้มากขึ้น โดยไม่ได้มีปัจจัยขับเคลื่อนจากเหตุการณ์ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย เราจะพัฒนาต่อไปได้ก็ด้วยการแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นภารกิจที่เครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิกนี้จะเข้ามาตอบโจทย์ ด้วยการรวบรวมความรู้ มุมมอง และแนวคิดที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย” แดนนี่ ควาห์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และคณบดีแห่งวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

รายงานวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจัดทำขึ้นโดย The Economist เผยว่ารัฐบาลและองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมสูงกว่าในเชิงดิจิทัลจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดได้ดีกว่า และการลงทุนในด้านการปฏิรูปด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) ก็จะช่วยให้การปฏิบัติงานของภาครัฐมีความมั่นคง ต่อเนื่อง ปรับตัวได้ทันสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เจอราลด์ หวัง หัวหน้าฝ่ายกิจการภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอดีซี เผยว่า “ทุกวันนี้ ประเทศ เมือง และชุมชนทุกหนแห่งต่างก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลด้วยนวัตกรรมมากมาย ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศอีกครั้งอย่างระแวดระวัง ตลอดสองปีที่ผ่านมา เราเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานเพื่อการบริการในภาครัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ความสนใจของผู้นำโลกในช่วงก่อนก้าวเข้าสู่ปี 2565 นี้ ก็มุ่งไปที่สามประเด็นหลัก ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัย วิกฤตในห่วงโซอุปทาน และความยั่งยืน ซึ่งผู้นำในด้านไอทีก็ควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับความรับรู้และเข้าใจในด้านนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านนโยบายสาธารณะและข้อบังคับต่างๆ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนทางดิจิทัล และตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชื่อถือของประชาชนผู้เสียภาษี และการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น 5G, คลาวด์คอมพิวติ้งเจเนอเรชันถัดไป, ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, บล็อกเชน, เทคโนโลยี AR/VR, อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ IoT รวมถึงระบบเอดจ์คอมพิวติ้งและควอนตัมคอมพิวติ้ง”

สู่ก้าวต่อไปของเครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก

หลังการประชุมครั้งแรกของเครือข่ายในวันนี้ ทางวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยูและสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีพ (School of Continuing and Lifelong Education) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จะจัดทำงานวิจัยในหัวข้อเกี่ยวกับการฟื้นฟูชาติและเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นมาจากข้อมูลเชิงลึกและข้อแนะนำที่แบ่งปันแลกเปลี่ยนกันระหว่างการเสวนาครั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นแผนกลยุทธ์ สนับสนุนให้ประเทศที่เข้าร่วมเครือข่ายได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการใช้งานนวัตกรรมดิจิทัลต่อไป โดยจะเผยแพร่รายงานสรุปจากการวิจัยนี้ในช่วงต้นปี 2565

“ขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเดินหน้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์และผู้ให้บริการที่สามารถวางใจได้ เพื่อให้ทุกประเทศได้นำศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI มาเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ความร่วมมือของเรากับพันธมิตรอย่างวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู และสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีพ (School of Continuing and Lifelong Education) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทำให้เราสามารถเชิญชวนหลากหลายภาคส่วนให้เข้ามาเสริมแกร่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และเติมศักยภาพให้เราสามารถกำหนดทิศทางใหม่ๆ สำหรับอนาคต และเอาชนะปัญหาที่เป็นความท้าทายระดับชาติได้ในที่สุด” นายคูร์ตัวส์กล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิกจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสานต่อการเสวนา สำรวจสถานการณ์ในแต่ละประเทศ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการดำเนินงานและความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อไป