ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คว้ารางวัลจากสองเวที เน้นย้ำความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ในฐานะ ‘บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดแห่งปี’ 3 ปีซ้อน และองค์กรดีเด่นด้านความเท่าเทียมทางเพศ

กรุงเทพฯ  – 9 ธันวาคม 2564บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัล “บริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย” (Best Companies to Work for in Asia) โดย เอชอาร์ เอเชีย ติดต่อกันสามปีซ้อน พร้อมคว้าอีกหนึ่งรางวัลจากเวที UN Women 2021 Thailand WEPs Awards โดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติและสหภาพยุโรป ในสาขา “สถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ” โดยทั้งสองรางวัลต่างตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดกว้าง มอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมทำความเข้าใจในแนวคิดที่หลากหลาย พร้อมบุกเบิกนวัตกรรมที่มาจากความคิดเห็น มุมมอง และข้อเท็จจริงที่รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้งองค์กรและบุคลากร

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รางวัลทั้งสองนับว่าเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความสำคัญของการเปิดรับความหลากหลาย และการทำความเข้าใจในตัวผู้อื่น ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของไมโครซอฟท์ ทั้งในบทบาทของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโลกของเราให้เดินหน้าต่อไป และในฐานะองค์กรและผู้จ้างงานที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก ผมขอมอบทั้งสองรางวัลให้กับทีมงานของไมโครซอฟท์ทุกคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันภายใต้แนวคิด ‘One Microsoft’ และยังคงเดินหน้าสนับสนุนทั้งลูกค้าและเครือข่ายพันธมิตรมาโดยตลอด แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอดปีที่ผ่านมา”

(ขวา) ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ (ซ้าย) ดาววัน โรจนพฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด รับรางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย โดย เอชอาร์ เอเชีย ประจำปี 2564

รางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย โดย เอชอาร์ เอเชีย มีที่มาจากผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานภายในองค์กร โดยได้รับเกียรติในการพิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้เกณฑ์การตัดสินด้วยโมเดลการประเมินการมีส่วนร่วมโดยรวม หรือ Total Engagement Assessment Model (TEAM) ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน 3 ประการ ได้แก่

  • องค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Collective Organization for Real Engagement: CORE) ซึ่งประกอบด้วยการประเมินด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม ความเป็นผู้นำและองค์กร และความคิดริเริ่มที่มีการดำเนินงานอยู่
  • การมีส่วนร่วมระดับบุคคล (Self: Heart, Mind & Soul) ประกอบด้วยการประเมินการมีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์ ความตั้งใจและแรงจูงใจ และพฤติกรรมและการสนับสนุน
  • การมีส่วนร่วมระดับกลุ่ม (Group: Think, Feel & Do) ประกอบด้วยการประเมินการตระหนักรู้ร่วมกัน สภาพอารมณ์ภายในสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมและการทำงานร่วมกันของทีม
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards นำโดย (ขวาสุด) ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่สองจากขวา) สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงิน (ที่สองจากซ้าย) สุภารัตน์ จูระมงคล Philanthropies Lead ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ (ซ้ายสุด) กฤติยา เอี่ยมศิริ ผู้จัดการฝ่าย Solution Assessment

ส่วนรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU)  นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล WEPs Awards ในประเทศไทย โดยรางวัลนี้มุ่งเน้นย้ำถึงบทบาทขององค์กรเอกชนในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ภายใต้หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles) ซึ่งเป็นหลัก 7 ประการสำหรับการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงในโลกธุรกิจ และเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจและเศรษฐกิจ

นายธนวัฒน์กล่าวเสริมอีกว่า “สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว ความหลากหลายและเท่าเทียมนับเป็นหัวใจสำคัญของพันธกิจของเราในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลก ความมุ่งมั่นในด้านนี้ของเราได้สะท้อนออกมาเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดให้ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกโดยเป็นตัวของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการด้าน Diversity & Inclusion ขึ้นในองค์กร พร้อมด้วยนโยบายและสวัสดิการที่พร้อมรองรับความต้องการที่หลากหลายของพนักงาน เช่นการเตรียมห้องเฉพาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องปั๊มน้ำนม การเปิดให้พนักงานหญิงสามารถลาคลอดได้เกินกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด พร้อมเปิดให้พนักงานชายสามารถลางานเพื่อไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้เช่นกัน นอกจากนี้ เรายังมีโครงการและกิจกรรมอีกมากมายที่มุ่งส่งเสริมทั้งความเท่าเทียม สุขภาพกายและสุขภาพจิต และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานแต่ละคนอย่างรอบด้าน”