พลิกโฉมศาสตร์แห่งการทูตด้วยเทคโนโลยี พร้อมมองไปข้างหน้าสู่โลกยุคหลังโรคระบาด ที่มีมากกว่าแค่นัดทานกาแฟและโถงทางเดิน

โดย ซูซานนา เรย์

ห้วงเวลาในชีวิตของนักการทูตคนหนึ่ง อาจวัดได้ด้วยจำนวนแก้วกาแฟที่ได้จิบและโถงทางเดินที่เคยก้าวผ่าน

ก่อนที่เราจะได้เห็นวินาทีการจับมือครั้งสำคัญและการประกาศข้อตกลงนานาชาติในงานประชุมระดับโลก งานส่วนใหญ่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงพักทานกาแฟ หรือไม่ก็ในโถงทางเดินระหว่างพักการประชุม สำหรับคนที่เป็นตัวแทนผู้ดูแลผลประโยชน์ของแต่ละประเทศแล้ว งานของพวกเขาคือการพบปะกับผู้อื่นในแบบที่ได้เจอหน้าเจอตากัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เหล่าบรรดานักการทูตถึงกับไม่รู้ว่าจะต้องทำงานต่อไปอย่างไร เมื่อการเดินทางต้องหยุดชะงักลงหลังเกิดโรคระบาดในช่วงต้นปี 2020

จากสถานการณ์นี้ คอร์เนลิว ยอลา ศาสตราจารย์ด้านการทูตศึกษาประจำมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด บอกกับเราว่าในเมื่อความคล่องตัวและการประนีประนอมต่างเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของนักการทูตที่ดี แค่ภายในปีเดียว นักการทูตส่วนใหญ่ก็ได้ปรับตัวและเข้าใจถึงพลังของการทูตแบบดิจิทัล ที่อาศัยแนวทางการทำงานแบบผสมผสาน ประกอบไปด้วยการพบปะและประชุมกันผ่านวิดีโอ โดยศาสตราจารย์ท่านนี้เพิ่งได้ทำการสำรวจนักการต่างประเทศรอบโลก และได้ข้อสรุปมาว่านักการทูตส่วนใหญ่ไม่อยากกลับไปทำงานแบบเดิมเหมือนสมัยก่อนเกิดโรคระบาด

“ข้อห้ามเดิมๆ ได้พังทลายลงแล้ว และการทูตแบบไฮบริดก็ได้กลายเป็นแนวทางใหม่ที่จะใช้กันต่อไป” คุณยอลากล่าว

คอร์เนลิว ยอลา ศาสตราจารย์ด้านการทูตศึกษาประจำมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (ภาพถ่ายโดยคุณยอลา)

กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า APEC เป็นตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่น หลังจากที่ผู้นำระดับโลก นักการทูต CEO และเจ้าหน้าที่สนับสนุนต่างจัดงานประชุมและการประชุมสุดยอดในแบบเสมือนล้วนๆ ตลอดปี 2021

กลุ่มความร่วมมือนี้จะมีการจัดประชุมทุกปีโดยหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพจากสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือรอบมหาสมุทรแปซิฟิกทั้ง 21 ประเทศ และในแต่ละไตรมาสก็จะมีการจัดประชุมย่อยหลายร้อยครั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าเสรีที่ยุติธรรมในภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 2.8 พันล้านคนแห่งนี้ ในปี 2020 ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้นพอดีในขณะที่การประชุมกำลังดำเนินอยู่ในประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มทำการล็อคดาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพในปีถัดไป จึงตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ เมื่อพวกเขาต้องเดินหน้าเตรียมแผนต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม APEC กว่า 20,000 คนในปี 2021 หลังจากที่เตรียมความพร้อมมานานหลายปี ขณะที่ประเทศของตนเองประกาศปิดพรมแดนด้วยมาตรการรับมือกับโรคระบาดที่เข้มงวดที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

และนี่ก็เป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบให้เทคโนโลยีได้ก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่น

“ฉันทึ่งมากกับการตัดสินใจของนิวซีแลนด์ในปี 2020 ที่จะจัดงานแบบเสมือนจริงในปี 2021 ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมาก” ดร. รีเบคกา สตา มาเรีย กรรมการบริหารของสำนักงานเลขาธิการ APEC ที่มีสำนักงานในสิงคโปร์กล่าว “เราเดินทางไม่ได้ แต่ก็ยังพบกันได้อยู่ หากไม่มีเทคโนโลยีแล้ว APEC ก็คงจะแทบทำงานต่อไปไม่ได้”

กระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งนิวซีแลนด์ได้ร่วมมือกับ Spark Business Group ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลในประเทศ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการประชุมของตนเองขึ้นมา โดยมี Microsoft Teams เป็นพื้นฐาน เพื่อรองรับการจัดกลุ่มการประชุมตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเลือกใช้ Teams อีกครั้งสำหรับการจัดงานประชุมสุดยอดสำหรับ CEO ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่เห็นแล้วว่าสแต็คเทคโนโลยีของ Microsoft สามารถดึงทรัพยากรจากคลาวด์ Azure มาขยายขนาดเพื่อรองรับกับงานขนาดมหึมาอย่างมหกรรมConsumer Electronics Show หรือ CES และงานใหญ่อื่นๆ ได้อย่างราบรื่น ควบคู่ไปกับมาตรฐานความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เหมาะสมสำหรับการหารือที่ละเอียดอ่อนระหว่างผู้นำโลก

หนึ่งในประโยชน์ของการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APEC ก็คือการส่งเสริมวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งนิวซีแลนด์เอง ในฐานะประเทศที่มีประชากรเพียง 5 ล้านกว่าคน และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สุดใน APEC ก็หวังที่จะสร้างแรงผลักดันใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมจากการต้อนรับผู้แทนหลายหมื่นคนที่เดินทางมาร่วมงาน เมื่อตัดสินใจจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์แล้ว ทีมงานฝ่ายเจ้าภาพก็ได้เปลี่ยนแผนอย่างรวดเร็ว หันมาต้อนรับเหล่าผู้แทนด้วยวิดีโอแสดงทิวทัศน์ทั่วนิวซีแลนด์ในระหว่างการรอประชุมหรือช่วงพัก พร้อมกับมีการเปิดเพลงของศิลปินท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือผู้แทนในการปรับเสียง ภาพพื้นหลัง และตำแหน่งบนหน้าจอ ส่วนในการประชุมสุดยอดสำหรับ CEO ทีมงานก็ได้เปลี่ยนจากการนำเสนอแบบในหอประชุมไปเป็นการถ่ายทอดสดเหมือนในโทรทัศน์ โดยมีพิธีกรจัดการประชุมและช่วยส่งเวทีต่อให้กับผู้พูดท่านต่อไป โดยที่พิธีกรหลายคนก็สวมใส่ชุดพื้นเมืองของชาวเมารีและกล่าวทักทายผู้เข้าประชุมในภาษาเมารีอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ งานนี้ยังทำให้พบว่าการทูตแบบดิจิทัลมีข้อดีอีกมากมาย

หนึ่งในนั้นก็คือการที่ผู้นำรัฐบาลและผู้บริหารของบริษัทต่างๆ สามารถเข้าประชุมแบบออนไลน์ได้จากทั้งเวลลิงตัน นิวยอร์ก และเจนีวาได้ในวันเดียวกัน โดยไม่ต้องทนกับอาการเจ็ทแล็ก แถมยังไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นจากการเดินทาง

ดร. รีเบคกา สตา มาเรีย กรรมการบริหารของสำนักงานเลขาธิการ APEC ประจำสิงคโปร์ (ภาพถ่ายโดย APEC)

“เราไม่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน 24 ชั่วโมงเพื่อไปงานประชุมสามวันอีกต่อไปแล้ว” คุณ สตา มาเรีย กล่าว พร้อมกับเสริมว่าเธอสามารถจัดการงานของเธอได้ดีขึ้นในปี 2021 ด้วยการเปิดวิดีโอการประชุมฟังไปด้วยในขณะทำงาน “มีการประชุมบางครั้งที่ดิฉันไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม แค่จำเป็นต้องฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เท่ากับว่าสามารถนั่งจิบกาแฟหรือทำงานที่บ้านเพื่อวางแผนวันทำงาน เขียนบทร่าง คิดถึงเรื่องต่างๆ แต่ก็ยังคงรู้ตลอดว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ในทางกลับกัน หากเราต้องไปเข้าประชุมเอง เราก็คงไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ หรือคุณอาจไปเข้าประชุมไม่ได้เลยด้วยซ้ำ”

การประชุมออนไลน์ยังช่วยให้นักการทูตชั้นนำสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้มากขึ้นในระหว่างการเจรจา เพราะการจัดตารางให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเดินทางมาร่วมงานในที่เดียวกันได้นั้นเป็นเรื่องยากไม่น้อย แต่การนัดประชุมใน Teams ทำได้ง่ายนิดเดียว

คุณยอลากล่าวอีกว่าการทูตแบบดิจิทัลนับว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับประเทศขนาดเล็กและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เปิดโอกาสให้ตนเองมีสิทธิ์มีเสียงในระดับสากลได้มากกว่าที่เคยโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดด้านค่าเดินทาง

“สิ่งที่ทุกคนรู้สึกได้ในปี 2020 คือศักยภาพในการเข้าถึงที่เพิ่มสูงขึ้น” มาร์ค เปเรซ หัวหน้าระดับสากลของศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการจัดงานแบบออนไลน์ของไมโครซอฟท์ กล่าว โดยแม้แต่ไมโครซอฟท์เองก็ยังสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ จากเดิมที่เมื่อปี 2019 มีวิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนาที่เข้าร่วม Build งานใหญ่ประจำปีของไมโครซอฟท์ มากเป็นประวัติการณ์ถึง 6,200 คน โดยมี 28 คนมาจากแอฟริกา แต่เมื่อเปลี่ยนมาจัดงานแบบออนไลน์ในปี 2020 ทำให้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 193,000 คน โดย 6,244 คนมาจากแอฟริกา

“ข้อห้ามเดิมๆ ได้พังทลายลงแล้ว และการทูตแบบไฮบริดก็ได้กลายเป็นแนวทางใหม่ที่จะใช้กันต่อไป”

นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น อย่างเช่นกลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ผู้หญิง เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้อื่นที่อาจถูกมองข้ามในสังคมหรือไม่สามารถเข้าร่วมงานได้หากมีการจัดงานแบบปกติ คุณเปเรซกล่าวว่า จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ มีความตั้งใจที่จะใช้โอกาสครั้งสำคัญในฐานะเจ้าภาพนี้เพื่อมอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่โดยปกติแล้วอาจไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะเดินทางมาร่วมประชุมในแถบแปซิฟิกตอนใต้ได้

โมนิกา ฮาร์ดี เวลีย์ ประธานศูนย์แห่งชาติสำหรับ APEC หน่วยงานผู้รับหน้าที่ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของ APEC กับบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ (ภาพถ่ายโดยคุณฮาร์ดี เวลีย์)

คุณโมนิกา ฮาร์ดี เวลีย์ ประธานศูนย์แห่งชาติสำหรับ APEC ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในซีแอตเทิล และมีหน้าที่เป็นตัวช่วยประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของ APEC และบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา มองว่าโลกการทูตมีธรรมเนียมปฎิบัติที่ใช้กันมาอย่างยาวนานก็จริง แต่การจัดประชุมแบบออนไลน์ก็มีข้อได้เปรียบเด่นๆ ที่เหนือกว่าการพบปะแบบเจอหน้ากันอยู่ด้วย

“เป็นเรื่องง่ายกว่ามากสำหรับผู้บริหารอาวุโสหรือวิทยากรชื่อดังที่จะเข้าร่วมวงสนทนาผ่าน Teams สัก 20 นาที แทนที่จะเดินทางหลายวันไปยังเมืองที่ห่างไกลอย่างอาเรกิปาในเปรู” คุณฮาร์ดี เวลีย์ กล่าว “นี่เป็นเรื่องดีๆ อย่างหนึ่งที่พบเห็นได้จากการประชุม APEC ตลอดปีที่ผ่านมา เราได้รับความเห็นและข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ดีขึ้น ในปริมาณที่มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทำให้เราได้พบปะกับผู้ที่โดยปกติแล้วอาจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้”

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกสิ่งจะดีไปหมดในโลกการทูตแบบดิจิทัล

คุณสตา มาเรีย กล่าวว่า “โดยปกติ การเจรจาก็เป็นเรื่องที่ยากมากอยู่แล้วในตอนที่ทำกันแบบตัวต่อตัวในสภาพการณ์ที่เหมาะสมที่สุด แล้วตอนนี้เรากำลังจะพยายามร่างคำแถลงและประกาศพร้อมกันในเก้าเขตเวลาทั่วโลก และยังผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย” เธอกล่าวเสริมว่าการดำเนินงานของ APEC นั้นเป็นไปยึดหลักฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิกและไม่มีผลผูกพัน จึงเท่ากับว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของความเชื่อใจและการสร้างความสัมพันธ์ล้วนๆ

คุณยอลาเสริมว่าสิ่งที่ด้อยลงไปในระหว่างช่วงโรคระบาดนี้คือการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการที่มักเกิดขึ้นในโถงทางเดินระหว่างรอการประชุม โดยเมื่อเปลี่ยนมาประชุมแบบออนไลน์ ทีมงานฝ่ายสนับสนุนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าอีกฝ่ายมีใครนั่งฟังอยู่ด้วยบ้าง จึงต้องแสดงออกโดยที่ระมัดระวังมากกว่าปกติ

ความเชื่อใจเป็นเรื่องสำคัญในโลกการทูต และเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากหากต้องพบปะกับผู้คนหน้าใหม่ผ่านทางวิดีโอ โดยปกติแล้ว นักการทูตจะทำความรู้จักกันเป็นอย่างดีเพื่อให้เข้าใจถึงแรงจูงใจและวัตถุประสงค์ของอีกฝ่าย และเพื่อช่วยคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับสะสางความขัดแย้ง โดยพวกเขาเรียนรู้ที่จะอ่านสีหน้า ภาษากาย และพฤติกรรมของคู่สนทนา ผู้ที่รู้จักกันมาก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โรคระบาดจะสานความสัมพันธ์ต่อทางออนไลน์ได้ง่ายกว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักกัน โดยคุณยอลามองว่าคนกลุ่มหลังต้องเจอกับโจทย์ยากในการสานสัมพันธ์กันโดยไม่มีมุกตลกหรือการทานข้าวร่วมกันมาเป็นตัวช่วยก่อนเริ่มเจรจา

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC เป็นไฮไลท์สำคัญของนิวซีแลนด์ในฐานะชาติเจ้าภาพเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น เป็นผู้เชิญชวนให้ผู้นำจาก 21 ชาติมาพบปะกัน (ภาพจาก APEC นิวซีแลนด์)

แม้แต่ในโลกการทูต เราก็ยังได้เห็นเรื่องน่าเขินในแบบที่เราได้เห็นกันเป็นประจำเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เช่นนายกรัฐมนตรีของประเทศหนึ่งที่ต้องแจ้งประธานาธิบดีว่า “ท่านปิดเสียงอยู่ครับ” ในระหว่างการประชุม หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องช่วยผู้นำระดับโลกปรับกล้องเพื่อเปลี่ยนมุมให้กล้องไม่ชี้ไปที่รูจมูกของผู้พูด แต่นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว การทูตแบบดิจิทัลยังมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้น เช่นในการประชุมของ APEC จะต้องเช็กให้มั่นใจว่าพื้นหลังของทุกคนนั้นสว่างเท่ากัน ประมุขของรัฐแสดงศีรษะขนาดเท่ากันในภาพวิดีโอ และล่ามเห็นภาพใหญ่พอที่จะสามารถทำการแปลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความพิเศษไม่เหมือนใครของงานด้านการทูตระหว่างประเทศทำให้ทีมงานของเปเรซจำเป็นต้องคิดนอกกรอบ โดยเขามองว่างานนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจที่มีบูทแสดงสินค้า 3 มิติแบบออนไลน์หรืออะไรทำนองนั้น แต่เป็นเรื่องที่เน้นประสบการณ์ฉันเพื่อนมนุษย์มากกว่า

คุณเปเรซกล่าวว่า “บุคคลที่เป็นผู้นำในรัฐบาลมีหน้าที่นำพามนุษยชาติไปข้างหน้า ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่แตกต่างไปจากปกติมากสำหรับผม งานนี้ผมไม่ได้กำลังแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ แต่กำลังอำนวยความสะดวกให้ผู้นำได้มีโอกาสโน้มน้าวและรับฟังซึ่งกันและกันอยู่”

งานประชุมสุดยอดระดับโลกเป็นเรื่องของการแสดงเชิงสัญลักษณ์ล้วนๆ นับตั้งแต่การได้เห็นว่าคณะเดินทางมีใครบ้าง และมาแสดงออกถึงอำนาจในแบบไหนบนเวทีโลก แต่เมื่อประชุมผ่านวิดีโอด้วย Teams แล้ว การแสดงเชิงสัญลักษณ์นี้ก็ลดน้อยลง เพราะทุกคนมาเข้าร่วมงานในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากันบนหน้าจอ อย่างไรก็ดี ผู้นำโลกก็เริ่มแสดงออกถึงหัวคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอตนเองผ่านกรอบสี่เหลี่ยมนั้นในการประชุมบางครั้ง โดยคุณยอลาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาอาจปรากฏตัวโดยมีพื้นหลังที่ดูยิ่งใหญ่อลังการและมีผู้ติดตามหลายสิบคนอยู่ข้างหลัง หรืออาจอยู่เพียงลำพังในห้องสไตล์เรียบๆ เพื่อแสดงออกถึงการควบคุมและความเป็นอิสระ

การประชุม APEC CEO Summit ประจำปี 2021 เวทีพบปะของผู้นำจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจัดขึ้นบนแพลตฟอร์ม Teams (ภาพถ่ายโดย APEC นิวซีแลนด์)

คุณยอลากล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากจากสถานการณ์ปัจจุบันก็คือการที่โรคระบาดนี้ได้พลิกโฉมงานการทูตและทำให้บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ จากเดิมที่นักการทูตคุ้นเคยกับการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในสภาพแวดล้อมของการเจรจา พวกเขากลับต้องมาใช้แพลตฟอร์มที่ผู้อื่นจัดหาให้และมีตัวเลือกปรับแต่งเพียงเล็กน้อย และด้วยการยอมรับถึงบทบาทใหม่ของเทคโนโลยีที่มีต่องานการทูตในยุคนี้ เราจึงได้เห็นคณะตัวแทนด้านเทคโนโลยีกว่า 20 คณะจากกระทรวงการต่างประเทศของหลายชาติทั่วโลก ที่เข้ามาประสานงานกับบริษัทในแถบซิลิคอนแวลลีย์

ทางคุณเปเรซกล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าจากโรคระบาดได้กลายเป็นเรื่องปกติในการทำงานไปแล้ว จึงทำให้การจัดงานออนไลน์เป็นครั้งๆ ไป ขยายตัวขึ้นมาเป็นการสร้างประสบการณ์แบบต่อเนื่องที่สร้างสรรค์และน่าประทับใจ พร้อมช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถออกความเห็นและมีส่วนร่วมกับวิทยากรและเจ้าภาพได้

คุณสตา มาเรีย ปิดท้ายให้เราฟังว่า “เมื่อเราปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็จะพัฒนาเพื่อช่วยเหลือเรา” ไม่ว่าภาวะโรคระบาดนี้จะเป็นอย่างไร เธอก็ยังเชื่อว่าเทคโนโลยีออนไลน์นี้จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการทูตต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง