ไมโครซอฟท์และ LinkedIn ประกาศโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัล พร้อมเปิดประตูให้ 10 ล้านคนทั่วโลกได้มีโอกาสพัฒนาและเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

Teenage girl using a laptop
  • โครงการล่าสุด ครอบคลุมเนื้อหาจากกว่า 350 คอร์สโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมด้วยประกาศนียบัตรระดับ “Career Essentials” ใน 6 สาขา และยังมอบสิทธิในการเป็นสมาชิก LinkedIn Premium รายปี รวมกว่า 50,000 ราย เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก และเพิ่มโอกาสในการได้รับจ้างงาน
  • โครงการ Skills for Jobs เสริมทักษะให้คนไทยแล้วกว่า 534,000 ราย

กรุงเทพฯ  28 ธันวาคม 2565 – ไมโครซอฟท์และ LinkedIn ได้ร่วมกันเผยถึงก้าวต่อไปในโครงการ Skills for Jobs โดยจะเปิดให้ผู้เรียนได้เข้าถึงหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติมอีกกว่า 350 คอร์สโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมด้วยประกาศนียบัตรระดับ “Career Essentials” หรือพื้นฐานอาชีพ ที่รับรองทักษะสำคัญใน 6 ตำแหน่งงานอันเป็นที่ต้องการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์และ LinkedIn ยังพร้อมมอบสิทธิในการเป็นสมาชิก LinkedIn Premium รายปี รวมกว่า 50,000 ราย ให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงความรู้และทักษะเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อปูทางสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในอาชีพการงาน

ภายใต้โครงการนี้ ไมโครซอฟท์มีเป้าหมายที่จะยกระดับทักษะเชิงดิจิทัลให้กว่า 10 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2025 โดยนับเป็นการต่อยอดจากโครงการ Global Skills Initiative (GSI) ที่ได้ช่วยให้ผู้คนกว่า 80 ล้านคนทั่วโลกได้เข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ทักษะเชิงดิจิทัล และปูทางไปสู่อาชีพการงานที่ดีกว่า ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ได้ให้การสนับสนุนกับผู้เรียนรวมกว่า 14 ล้านคนในทวีปเอเชีย ผ่านทางแพลตฟอร์มการเรียนรู้อย่าง LinkedIn และ Microsoft Learn โดยจากจำนวนนี้ คิดเป็นผู้เรียนชาวไทยรวมกว่า 534,000 ราย

สำหรับหลักสูตรและประกาศนียบัตรใหม่ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก LinkedIn และสถาบัน Burning Glass Institute โดยไมโครซอฟท์นำรายการตำแหน่งงานที่เปิดรับบุคลากรมาประมวลผลเพื่อค้นหา 6 ตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงสุด ซึ่งได้แก่ พนักงานธุรการ (Administrative Professional), ผู้จัดการโครงการ (Project Manager), นักวิเคราะห์เชิงธุรกิจ (Business Analyst), ผู้ดูแลระบบไอที (Systems Administrator), นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) และนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) โดยสำหรับประเทศไทย จะมีการนำเสนอหลักสูตรเต็มรูปแบบภายใต้ชื่อ LinkedIn Learning Pathways สำหรับทักษะและสายงานต่างๆ ดังนี้: Critical Soft Skills, Project Manager, Digital Marketing Specialist, Financial Analyst, Data Analyst และ Sales Development Representative

ส่วนประกาศนียบัตรระดับ Career Essentials จะช่วยให้ผู้เรียนได้เดินหน้าต่อ จากการสร้างเสริมทักษะดิจิทัลในระดับพื้นฐาน สู่ทักษะเชิงเทคนิคที่ลงลึกยิ่งขึ้น และต่อยอดไปสู่ประกาศนียบัตรและการรับรองมาตรฐานความรู้อื่นๆ ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เมื่อเรียนรู้จนสำเร็จหลักสูตรหนึ่งแล้ว ผู้เรียนจะได้รับตรารับรองจาก LinkedIn ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้องค์กรผู้ว่าจ้างเล็งเห็นถึงทักษะของผู้เรียน

การประกาศขยายโครงการในครั้งนี้จะช่วยสานต่อพันธกิจของไมโครซอฟท์ในการเปิดให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น ผ่านทางทักษะ เทคโนโลยี และช่องทางในการมุ่งสู่ความสำเร็จ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยทุกหลักสูตรในโครงการนี้สามารถเรียนได้ผ่าน LinkedIn ที่เว็บไซต์ opportunity.linkedin.com นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถพบกับหลักสูตรเพิ่มเติมอื่นๆ จากไมโครซอฟท์ได้ทาง Microsoft Community Training (MCT) ขณะที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรก็ยังสามารถดาวน์โหลดหลักสูตรไปปรับใช้กับระบบการเรียนการสอน (Learning Management Systems; LMS) ของตนเองได้อีกด้วย

คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตด้วยอัตราระดับสองหลักในปี 2566* แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะไปในทิศทางใด ไมโครซอฟท์ก็มีความตั้งใจที่จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนของประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี จากศักยภาพของนวัตกรรมระดับโลกที่มั่นใจได้ในความปลอดภัย ด้านความร่วมมือ กับเครือข่ายพันธมิตรในหลากหลายภาคส่วนที่ขับเคลื่อน Digital Transformation ไปด้วยกัน และในด้านบุคลากร กับเป้าหมายในการเสริมทักษะให้คนไทย 10 ล้านคน การประกาศหลักสูตรเพิ่มเติมจาก LinkedIn ในโอกาสนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราอีกครั้ง ภายใต้เป้าหมายที่จะผลักดันให้คนไทย ธุรกิจไทย และเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงสู่ยุคแห่งการสร้างธุรกิจและนวตกรรมในประเทศที่ Born in Thailand อย่างเต็มตัว”

เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ประกาศความสำเร็จในเฟสแรกของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ หลังจากเปิดตัวโครงการเมื่อปี 2563 ซึ่งนับเป็นโครงการหลักเพื่อเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) และมูลนิธิกองทุนไทย โดยได้พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่ชาวไทยจำนวน 280,000 คน ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ และยังเดินหน้าสานต่อเฟสที่สองของโครงการ ด้วยการปลดล็อคศักยภาพและสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับแรงงานชาวไทยเพิ่มเติมอีก 200,000 คน ในปี 2565

ผู้ที่สนใจเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลในประเทศไทย สามารถเรียนรู้จากหลักสูตรออนไลน์ของโครงการ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรทั้งหมด ซึ่งให้บริการแก่ผู้เรียนภายในโครงการทั้งหมด รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาตลอดหลักสูตรจะได้รับใบรับรองประกาศนียบัตรอีกด้วย ทั้งนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตร ประกอบด้วย

# # #

 

[1] ประสบความสำเร็จ! แผนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ระยะที่ 1 (ปี 61 – 65) สร้างมูลค่ากว่า 7.7 แสนล้านบาท เตรียมต่อยอดสู่แผนระยะที่ 2 (ปี 66 – 70) – บทความเผยแพร่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยทำเนียบรัฐบาล