ตั้งเป้าสร้างบุคลากรดิจิทัลมืออาชีพ 350 คนภายในปี พ.ศ. 2566
ในขณะที่ตลาดแรงงานไทยและทั่วโลกยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของบุคลากรในสายงานด้าน AI และดิจิทัล โดย WTW พบว่า บริษัทกว่า 97% กำลังประสบปัญหาในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้มาร่วมงาน และคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้บริษัทต่าง ๆ จะยังคงให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานด้านดิจิทัล
‘นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ เป็นหนึ่งในอาชีพดิจิทัลเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของประเทศไทย หลายคนสนใจที่จะย้ายสายงานมาทำอาชีพนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำวงการเทคโนโลยีอย่าง ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดหลักสูตรบูทแคมป์ Junior Software Developer – JSD หลักสูตรฝึกอบรมเข้มข้นระยะสั้น ซึ่งผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สร้างบุคลากรนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่และโอกาสในการจ้างงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
ปี 2565 ที่ผ่านมา จากบูทแคมป์ JSD 3 รุ่น มีผู้จบการศึกษาไปแล้ว 140 คน ซึ่งกว่า 85% ของผู้เรียนเป็นคนย้ายสายงาน ไม่มีวุฒิการศึกษาด้านเทคโนโลยี และไม่มีประสบการณ์การทำงานด้านไอทีมาก่อน จากการเก็บข้อมูลของเจเนเรชั่น พบว่า รายได้ของผู้ที่จบจากโครงการฯ ยังอยู่ในเกณฑ์เดียวกับผู้สมัครงานในตลาดที่จบตรงสายอีกด้วย
ขนุน-เอษรา ปิยะชนกวงศ์ อดีตไรเดอร์ จิ๊บ-ปรียาวัธน์ อินทร์ห้างหว้า บัณฑิตกฎหมายจบใหม่ และแพร-ไอริส คงสุข อดีตเลขานุการผู้บริหาร คือ ผู้ที่เห็นโอกาสในโลกดิจิทัลและตัดสินใจเข้าร่วมบูทแคมป์ JSD เพื่อมาเรียนรู้ทักษะใหม่ที่แตกต่างจากอาชีพเดิมอย่างสิ้นเชิง จนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนอาชีพสู่วงการเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างตั้งใจ
จาก‘ไรเดอร์’ สู่อาชีพสายเทคฯ ที่ตอบโจทย์ได้ใน 4 เดือน
“การเปลี่ยนสายงานมาในวงการดิจิทัลทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อนเราจะต้องเสี่ยงขับรถเพื่อไปส่งอาหาร ส่งของบนถนน ซึ่งโอกาสเกิดอุบัติเหตุมันเยอะ แต่พอได้ทำงานนี้ เรามีรายได้ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน เราได้ใช้ชีวิตจริงๆ ในแบบที่เราอยากได้”
ขนุน-เอษรา ปิยะชนกวงศ์ ผู้เรียน JSD รุ่น 1 เล่าถึงชีวิตเล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากได้เข้าบูทแคมป์ JSD จนได้มีโอกาสทำงานประจำในตำแหน่ง Quality Assurance ในบริษัทไอทีในเครือโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ขนุน เพิ่งจบการศึกษาจากด้านเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบและเริ่มชีวิตการทำงานในช่วงสองปีแรกด้วยงานด้านการขายและการบริการลูกค้าของบริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่ง รายได้ของเขาขึ้นอยู่กับยอดขายทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เขาจึงตัดสินใจหาอาชีพใหม่ที่ทำรายได้ได้ดีกว่าในช่วงที่โควิดระบาด
“ตอนออกจากงานประจำตอนนั้นเราก็มีภาระหนี้ ออกมาแล้วก็ค่อนข้างเคว้ง เพราะไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาดำรงชีพและจ่ายหนี้ ก็เลยลองไปเป็นไรเดอร์อยู่ประมาณครึ่งปี ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากนะ เพราะกว่าจะหาเงินได้วันละพันก็ต้องทำงานหนัก ไรเดอร์ต้องเจอทุกสภาพอากาศ ปริมาณงานกับคนขับก็ไม่สมดุลกันและเสี่ยงอุบัติเหตุ”
ระหว่างเป็นไรเดอร์ ขนุน พบประกาศรับสมัครผู้เรียนบูทแคมป์ JSD ของเจเนเรชั่นผ่านเพจเฟซบุ๊ก จึงได้ลองสมัครและผ่านบททดสอบหลายขั้นตอนจนได้เป็นหนึ่งในผู้เรียนบูทแคมป์ JSD รุ่นแรก “ตัวผมเองก็สนใจด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วและมองว่าเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ ตอนนั้นก็วางแผนไว้ว่า ถ้าเราได้เข้าโครงการจริงๆ งานแรกที่เราจะทำคืองานสายนี้แน่นอน”
หลักสูตรบูทแคมป์ JSD มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยสอนทักษะการโค้ดภาษาโปรแกรมต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐาน ปูตรรกะวิธีคิดแบบนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับผู้เรียนซึ่งนอกจากทักษะด้านดิจิทัลแล้ว ทักษะด้านซอฟต์สกิล (soft skill) ที่ใช้ในการทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน “หลักสูตร JSD ทำให้ผมได้เรียนและฝึกทักษะซอฟต์สกิล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อน สอนการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกความอดทนและการบริหารเวลาการทำงาน นับเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนที่หาได้ยากในปัจจุบัน”
“สำหรับการเริ่มทำงานจริง ผมเริ่มหางานตั้งแต่ช่วงใกล้จบบูทแคมป์ หลักสูตรนี้ยังช่วยดูแลและให้คำปรึกษากระบวนการต่างๆ ระหว่างการสมัครงาน ทั้งเป็นที่ปรึกษาให้เราในการพูดคุยกับบริษัทพาร์ทเนอร์ ที่สนใจจะรับเราเข้าทำงาน ทำให้ผมได้ไปสมัครงานเองได้อย่างตั้งใจ ต้องขอบคุณโครงการที่เปิดกว้างให้เราไปหางานได้เอง”
4 เดือน นับตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการจนถึงช่วงสมัครงาน ในที่สุดขนุนก็ได้เริ่มงานในตำแหน่ง Back-end Developer ของบริษัท CRM แห่งหนึ่งเป็นงานแรก และต่อมาก็ย้ายไปทำด้าน Quality Assurance เพราะรู้สึกว่าตอบโจทย์ตัวเองมากกว่า โดยได้ใช้ความรู้จากโครงการทั้งด้านเทคนิคและซอฟต์สกิลในการทำงานจริง
“บริษัทที่ผมทำอยู่ตอนนี้เป็นเครือของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการมาช่วยเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ทุกคนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยสายงานของผมคือการตรวจข้อมูล จึงได้นำความรู้ด้านการ query ข้อมูล (การกรองข้อมูลจากฐานข้อมูล) การบริหารเวลา และการทำงานร่วมกับผู้อื่นจากที่เรียนรู้มาจากหลักสูตร มาใช้งานได้จริง โครงการนี้ทำให้เรากล้าแสดงออกในด้านการกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อให้งานสำเร็จ ผมภูมิใจมากที่งานด้านข้อมูลที่เราทำตอนนี้มีประโยชน์ให้กับคนอื่น”
ขนุนทิ้งท้ายคำแนะนำให้กับคนที่ตั้งใจย้ายมาอาชีพสายดิจิทัลว่า “งานด้านเทคโนโลยีเป็นงานที่เปิดกว้าง เราพิสูจน์คุณค่าของเราเองได้จากผลงานที่เราทำ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวของเราเอง ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ใช้เวลาเรียนรู้กับมันจะทำให้เราสำเร็จได้จริง”
บัณฑิตใหม่ด้านกฎหมาย อยากเปลี่ยนสายมาคว้าฝัน
“คนรอบข้างตกใจที่เรากล้าเปลี่ยนสายงาน กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ จากเป็นนักกฎหมายแต่เปลี่ยนแนวมาเขียนโปรแกรม”
จิ๊บ-ปรียาวัธน์ อินทร์ห้างหว้า ผู้เรียน JSD รุ่น 2 คือบันทิตจบใหม่สายกฎหมายที่มีความฝันในการทำงานกับบริษัทต่างชาติชั้นนำและอยากมีโอกาสในการทำงานที่ต่างประเทศ แม้จะเรียนกฎหมายมากว่า 4 ปี แต่จิ๊บสนใจที่จะทำงานด้านเทคโนโลยีเพราะรู้ว่าเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ยังว่างงาน จิ๊บใช้เวลาในการค้นคว้าและหาช่องทางเรียนด้วยตนเองเรื่อยมาจนมาเจอบูทแคมป์ JSD “ตอนนั้นเราไม่รู้จะปรึกษาใครและก็ยังไม่มีความรู้เรื่องภาษาโค้ดดิ้งเท่าไหร่ แต่เราหาช่องทางเรียนด้วยตัวเอง เราเป็นคนชอบเรียนรู้ จนมาเจอโครงการ JSD ก็เลยสมัครเข้ามา”
จิ๊บเล่าว่า การเรียนในบูทแคมป์ JSD ตอบโจทย์คนที่ไม่มีพื้นฐานอย่างเธอ เพราะเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมและสามารถใช้งานได้จริง รวมถึงทักษะด้านซอฟต์สกิลซึ่งสำคัญกับงานด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด “มาตอนแรกเรายังแยกไม่ออกเลยระหว่าง front-end กับ back-end บูทแคมป์สอนครบทุกอย่าง และได้นำไปปรับใช้ในการทำงานจริงๆ ทั้งด้านเทคนิค และเรื่อง growth mindset ในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพราะงานที่เราทำตอนนี้ภาษาต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามโปรเจ็ค”
การเรียนรู้ทักษะใหม่ในเวลาจำกัดไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจิ๊บและเพื่อนๆ ในบูทแคมป์ต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำความเข้าใจด้านเทคนิคและสร้างโปรเจ็คเพื่อเตรียมสมัครงานภายในเวลา 3 เดือน
แต่จิ๊บบอกว่าผ่านมาได้เพราะการสนับสนุนอย่างดีจากทีมผู้สอน ทีมงานเจเนเรชั่น เมนเทอร์อาสาสมัครและเพื่อนๆ
“ช่วงทำโปรเจ็คเราเคยแอบร้องไห้ เพราะเขียนโค้ดหลังบ้านไม่ได้ เรากดดันตัวเองเพราะกลัวเพื่อนในทีมรอ จนคิดไปถึงอนาคตเวลาที่เราจะสร้างปัญหาหรือไม่เมื่อต้องไปทำงานจริง แต่ทีมผู้สอน ได้เข้ามาช่วยเหลือและทำความเข้าใจกับเพื่อนทุกคน ทำให้แต่ละงาน ผ่านมาได้ด้วยดี”
จิ๊บเล่าถึงประสบการณ์ในการสมัครงานให้ฟังว่า โครงการได้เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนอย่างเข้มข้นในการทำเรซู่เม่ การทำพอร์ทฟอลิโอ และการสัมภาษณ์งาน เพื่อให้ผู้เรียนมีความมั่นใจที่จะไปสมัครงานจริงๆ โดยจิ๊บได้ลองสมัครงานหลายวิธี ทั้งการแชร์เรซูเม่ในกลุ่มออนไลน์ต่างๆ ได้ผ่านการสัมภาษณ์งานหลายแห่ง และพัฒนาตัวเองจนกระทั่งได้งานในตำแหน่งและบริษัทที่ตัวเองต้องการ
ปัจจุบันจิ๊บทำงานในตำแหน่ง ‘Junior Software Developer’ ในทีมพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง โดยมีความสุขและสนุกกับงานที่ทำอยู่ในตอนนี้มาก กับงานที่ท้าทาย และทีมที่ดี
จิ๊บเชื่อว่าทัศนคติที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต หรือ growth mindset เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างๆ เชื่อมั่นในคนที่จบมาไม่ตรงสาย หรือคนที่เปลี่ยนสายงานมาด้านนี้ เพราะงานเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงตลอด สิ่งสำคัญที่ทำให้เธอมาถึงตรงนี้ได้คือการไม่กำหนดกรอบให้ตัวเองว่าเรียนจบอะไรมาและจะต้องทำอาชีพนั้น ๆ แต่เพียงอย่างเดียว
“จิ๊บจบมาไม่ตรงสาย แต่เราได้เข้าสู่วงการสายเทคฯ มันมีหนทางอาชีพมากขึ้น ถ้าไม่เขียนโปรแกรมเราก็ไปเป็น QA (Quality Assurance) ได้ ตอนนี้มีรายได้ที่ทำให้เราดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่และช่วยที่บ้านได้ด้วย ทำให้จิ๊บรู้สึกใกล้ความฝันของตัวเองมากขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้เราทำงานที่ไหนก็ได้ เป็นอิสระในตัวเองได้จริง ๆ”
อดีตเลขานุการ ผันสู่งานสายเทคฯ ในวัย 30 ได้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง
“เราภูมิใจในตัวเองมาก ที่มาทำอาชีพสายเทคฯได้ เพราะเรารู้ว่า “วิถี” ของเรากับของคนอื่นมันไม่เหมือนกัน วิถีของเรามันไม่ง่าย เพราะถ้ามันง่ายเราคงทำได้ไปตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เราคิดจะทำแล้ว”
แพร-ไอริส คงสุข อดีตเลขานุการผู้บริหาร ผู้เรียนบูทแคมป์ JSD รุ่น 2 ซึ่งปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Quality Assurance ของบริษัทเทคโนโลยีนานาชาติชั้นนำ แพรเล่ากว่าเมื่อ 2 ปีก่อน เธอเริ่มสนใจที่จะย้ายสายงาน เพราะอิ่มตัวจากงานเดิมที่ทำอยู่ ประกอบกับความต้องการหาอาชีพที่ตอบโจทย์ตัวเองได้ในสามเรื่อง คือ เป็นงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้ มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเส้นทางอาชีพที่เปิดกว้าง แพรจึงเริ่มมองอาชีพด้านเทคโนโลยีและโอกาสในการย้ายสายงานจนมาเจอบูทแคมป์ JSD
ข้อจำกัดเรื่องเวลา คือความท้าทายของการย้ายสายงานในวัย 30 ปี ดังนั้นการเรียนระยะสั้น พร้อมปูเส้นทางสู่การหางานสมัครงานจากบูทแคมป์ JSD จึงตอบโจทย์แพรที่สุด ซึ่งแพรเล่าว่าเธอก็เชื่อมั่นตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเรียนว่าตัวเองจะสามารถเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ และระหว่างเรียนแพรก็ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองมองอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งเลือกมาทำตำแหน่ง Quality Assurance โดยได้รับความรู้และการสนับสนุนจากบูทแคมป์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้งานนี้
“จุดเด่นของบูทแคมป์นี้คือ ระบบเมนเทอร์ ที่ช่วยให้คำแนะนำทุกอย่างทั้งเรื่องโปรเจ็ค เรซูเม่และการสัมภาษณ์งาน การต่อยอดสายงาน ทำให้มีความอุ่นใจ แม้เราจะมีประสบการณ์การทำงานมาเป็นสิบปี แต่การที่ต้องไปสัมภาษณ์งานในสายงานใหม่ มันเหมือนเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรก เต็มไปด้วยความกังวล เพราะสายอาชีพที่แตกต่างความคาดหวังก็ย่อมแตกต่างกัน แต่การที่ได้ซ้อมสัมภาษณ์จากกิจกรรม mock interview ในแคมป์ นั้นใช้ประโยชน์ได้จริงและยังได้งานจากกิจกรรม job fair ที่เจเนเรชั่นจัดขึ้นด้วย”
แพรเล่าว่า growth mindset และความอดทน เพราะการเปลี่ยนสายงานที่เคยทำมาเป็นเวลานานนั้น ต้องใช้ความตั้งใจ อดทน และพยายามปรับตัวเพื่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อความสำเร็จไม่ว่าจะทำงานสายไหนก็ตาม
แพรได้ทิ้งท้ายให้กับคนที่ตั้งใจเปลี่ยนย้ายสายงานไว้ว่า “ตอนนั้นเหตุผลเดียวที่แพรกล้าลาออกจากงานเดิม โดยยังไม่รู้ว่าจะได้เข้าบูทแคมป์ไหม คือ ความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ หลาย ๆ คนที่ไม่กล้าเปลี่ยนสายงานเพราะอาจติดอยู่ใน comfort zone แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้เราก็ต้องเสียสละความสบายอย่างหนึ่งและต้องมีวินัยมากพอ ซึ่งมันพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้จริงๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้”
คุณสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้อำนวยการ Community Engagement, Microsoft Philanthropies เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า “โครงการนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในการจ้างงานได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านการเสริมทักษะทั้งด้านเทคนิคและซอฟท์สกิลต่างๆ ไปจนกระทั่งการเป็นสะพานเชื่อมต่อกับพันธมิตรเพื่อขยายเส้นทางการจ้างงาน เรายินดีเป็นอย่างอย่างที่ได้ทำงานกับเจเนเรชั่น ในการสร้างความสำเร็จที่วัดผลได้จริง ให้กับผู้ที่ต้องการเข้าถึงอาชีพด้านเทคโนโลยีอย่างแท้จริง””
พัฒนาทักษะคนทำงาน เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม
หลักสูตร JSD ได้รับการออกแบบเนื้อหาร่วมกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกว่า 20 แห่ง เพื่อให้ตอบโจทย์ทักษะที่กลุ่มอุตสาหกรรมต้องการอย่างแท้จริง โดยตำแหน่ง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นอาชีพที่ต้องการมากที่สุดในสาขานี้ เจเนเรชั่นจัดมีการฝึกอบรมแบบเข้มข้นระยะสั้น ทั้งหมด 5 รุ่น แบ่งผู้เรียนรุ่นละ 50-60 คน ตั้งเป้าในการสร้างบุคลากรดิจิทัลมืออาชีพ 350 คนภายในปี พ.ศ.2566 ผู้เรียนมาจากทั่วประเทศและมีพื้นฐานหลากหลายอาชีพ ซึ่งทุกคนมุ่งมั่นที่จะอัพสกิลและรีสกิลตนเองให้ก้าวสู่อาชีพสายเทคโนโลยีดิจิทัล
คุณปุณยนุช พัธโนทัย ซีอีโอ ของเจเนเรชั่น ประเทศไทย กล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จนี้ว่า “เจเนเรชั่น ได้ทำงานภายใต้โมเดลพันธมิตรร่วม 3 ภาคส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม โดยภาครัฐได้สนับสนุนเงินทุนและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ภาคเอกชนสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและเปิดโอกาสการจ้างงานให้กับผู้เรียน ขณะที่ภาคสังคมได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เจเนเรชั่นขอขอบคุณทุกการสนับสนุนที่ทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จด้านอาชีพผ่านโครงการนี้ ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในด้านช่องว่างทักษะและการศึกษาเพื่อการจ้างงานในเชิงระบบ”
สำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะเพื่อก้าวสู่อาชีพสายเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถติดตามข่าวสารและสมัครเข้าร่วมโครงการ Junior Software Developer ได้ที่ https://thailand.generation.org
สรุปโครงการ Junior Software Developer
ปัจจุบันมีผู้เรียนผ่านโครงการและจบการศึกษาทั้งหมด 140 คน และโครงการกำลังดำเนินงานกับรุ่นที่ 4 โดยมีผู้เรียนอีกทั้งหมด 60 ในโครงการที่กำลังจะจบการศึกษาในปลายเดือน พฤษภาคม
ในรุ่นแรกมีผู้เรียนที่จบการศึกษาทั้งหมด 93% และได้งาน (Attainment rate) 87%
ในรุ่นที่ 2 มีผู้เรียนที่จบการศึกษาทั้งหมด 89% และได้งาน (Attainment rate) 77%
ในรุ่นที่ 3 มีผู้เรียนที่จบการศึกษาทั้งหมด 100% และได้งาน (Attainment rate) 57%
โดยเฉลี่ยผู้เรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าหลังจากจบโครงการจากเจเนเรชั่น โดยในขั้นต้นมีรายได้โดยเฉลี่ยที่ 24,747 บาท