Asia Vision Series: Dr. Hsiao-Wuen Hon

 |   Thornthawat Thongnab

ในบทความพิเศษชุด Asia Vision Series เราเจาะลึกแนวโน้มและประเด็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและผู้มีวิสัยทัศน์ระดับภูมิภาค ในการสัมภาษณ์นี้ Koh Buck Song นักเขียนและบรรณาธิการหนังสือกว่ายี่สิบเล่ม และเป็นอดีตหัวหน้างานฝ่ายการเมืองของ The Straits Times หนังสือพิมพ์รายใหญ่ระดับชาติ พูดคุยกับ Dr. Hsiao-Wuen Hon รองประธานบริษัท Microsoft Research Asia และ Microsoft Asia-Pacific R&D Group ผู้นำทางความคิดด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ เขาเล่าเรื่องการเดินทางส่วนตัวเพื่อตามหาแรงใจด้านนวัตกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับปัญญามนุษย์

ฝันยิ่งใหญ่เบื้องหลัง Xiaoice

“ผมเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนเข้ามหาวิทยาลัย ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ผมนึกภาพอยู่เสมอถึงบริการที่ตอบข้อสงสัยได้อย่างครบถ้วน”

นับตั้งแต่ก่อนที่ Dr. Hsiao-Wuen Hon จะได้จับคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกตอนอยู่มหาวิทยาลัยในปี 1981 เขาจินตนาการไว้แล้วถึงอนาคตต้องมีระบบซึ่งตอบคำถามของมนุษย์ได้ทุกข้อ เฉกเช่นโปรแกรมค้นหาหรือระบบสั่งงานอัจฉริยะในปัจจุบัน อาทิ Cortana ของ Microsoft ในวัยหนุ่ม Dr. Hon เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้มนุษย์อยู่เหนือความกลัวในสิ่งที่ไม่หยั่งรู้ ด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงาน วิสัยทัศน์แห่งอนาคตนี้เป็นแนวทางก่อร่างเส้นทางการศึกษาของเขา ตั้งแต่คณะวิศวกรรมไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน จนจบปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน

 

YouTube Video

 

ขณะศึกษาที่คาร์เนกีเมลลอน Dr. Hon เริ่มจริงจังกับการวางรากฐานผลงานด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องกล Raj Reddy อาจารย์ที่ปรึกษาระดับชั้นปริญญาเอกของเขาผู้ได้รับรางวัล Turing Award เป็นศิษย์เก่าของนักคอมพิวเตอร์ John McCarthy ผู้สร้างคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ในปี 1956 และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์ การเชื่อมต่อนี้คงจะมีประโยชน์อย่างมากต่อ Dr. Hon หากไม่นับว่า “AI Winter” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1992 ขณะที่เขากำลังศึกษาระดับปริญญาเอก หวนให้นึกถึงช่วงมรสุมนี้ “หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย แม้แต่บริษัทต่าง ๆ ล้วนลดทอนหรือหยุดให้เงินทุนแก่ภาควิชา แต่ทว่าจนถึงทศวรรษแรกของยุค 2000 เท่านั้นที่ AI ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย” Dr. Hon กล่าว

Dr. Hon เชื่อในพลังความก้าวหน้าของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลหรือ big data ว่าจะกระตุ้นสภาวะปัญญาประดิษฐ์แบบยิ่งยวดได้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความทรงพลังและรวดเร็วมากขึ้นอย่างมาก จึงช่วยเปิดทางให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่แม้ใช้เวลาชั่วชีวิตของมนุษย์ก็ไม่อาจเรียนรู้หมดได้ ให้เข้ามาสู่ระบบการเรียนรู้ ความสามารถแบบก้าวกระโดดของคอมพิวเตอร์สำคัญต่อปัญญาประดิษฐ์ เพราะยิ่งรับข้อมูลได้มากและรวดเร็วขึ้นเท่าไหร่วิถีการเรียนรู้ของมันจะยิ่งก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น อันที่จริง ความเชื่อมโยงถึงกันของปัญญาประดิษฐ์ Big Data และMachine Learning ในปัจจุบันทำให้เกิดระบบจดจำใบหน้าและเสียงพูด ที่สามารถแปลหรือถ่ายทอดออกมาได้ทันที ซึงเป็นสายงานตรงที่ Dr. Hon ดูแลในฐานะประธานกรรมการบริหารของ Microsoft Research Asia และผู้เชี่ยวชาญที่รู้จักในวงกว้างด้านเทคโนโลยีการจดจำเสียงพูด

“ตอนนี้ ปัญญาประดิษฐ์เป็นที่สนใจอย่างมาก เพราะช่วยมนุษย์แก้ปัญหาใหม่หรือไขปัญหาเก่าด้วยวิธีที่ดีขึ้น…”
Xiaoice เป็นระบบพูดคุยสื่อสารภาษาธรรมชาติที่ล้ำสมัย ซึ่งมีอยู่ในแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยอดนิยมต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชันส่งข้อความ WeChat (ตามภาพ) และบริการบล็อกขนาดเล็กอย่าง Weibo

ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ Dr. Hon ทำงานใน Microsoft ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท แต่น้อยคนจะทราบว่าตัวเลขนี้คือจำนวนโดยประมาณที่ Dr. Hon ใช้เวลาทำตามความฝันในวัยเด็ก ในปี 2015 Xiaoice (แปลว่า Little Bing ซึ่งสื่อโดยนัยถึงโปรแกรมค้นหา Bing) เริ่มใช้งานในประเทศจีน Xiaoice เป็นระบบพูดคุยสื่อสารที่ปูทางอินเทอร์เน็ตของจีนสู่การพัฒนาความสามารถในการประมวลผลและตอบโต้ผ่านภาษาพูด นอกจากนี้ Xiaoice ยังมีระบบจดจำภาพและเสียงในตัว เพื่ออำนวยความสะดวกและวิเคราะห์บริบทการสนทนา วัยรุ่นจีนนับล้านคนใช้สมาร์ทโฟนสื่อสารผ่าน Xiaoice เป็นประจำทุกวัน เพราะสนุกและใช้สะดวก ผู้ใช้หนึ่งในสี่คนกล่าวยํ้าอยู่เนือง ๆ เกี่ยวกับ Xiaoice ว่า “ชอบใช้มาก” ซึ่งนั่นเกินความใฝ่ฝันของ Dr. Hon ในการสร้างระบบข้อมูล ศักยภาพของ Xiaoice ในการส่งเสริมมิตรภาพทำให้ Dr. Hon ใฝ่ฝันไปไกลยิ่งขึ้น โดยเขาหวังว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีวิวัฒนาการผสานผลิตภาพของ Cortana เข้ากับความไวต่ออารมณ์ของ Xiaoice

แต่ Xiaoice เป็นผลงานชิ้นเอกด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Microsoft สำหรับบริษัทที่เพิ่งจะส่งสัญญาณความชัดเจนในเรื่องการให้ความสำคัญกับ BOT แห่งนี้ ไมโครซอฟท์วางแผนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกคนและทุกองค์กรในโลกประสบความสำเร็จมากขึ้นอย่างไร? Dr. Hon ดูจะเป็นผู้ตอบคำถามที่เก่งที่สุด จากความซับซ้อนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการศึกษาค้นคว้า เขาเริ่มจากอธิบายการกลับมาเป็นที่นิยมของปัญญาประดิษฐ์ โดยกล่าวว่า “ตอนนี้ ปัญญาประดิษฐ์เป็นที่สนใจอย่างมาก เพราะช่วยมนุษย์แก้ปัญหาใหม่หรือไขปัญหาเก่าด้วยวิธีที่ดีขึ้น…” ตัวอย่างที่ดีคือเรื่องการสาธารณสุขซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ด้านที่เห็นได้ชัด การจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์อาจจ่ายตามอาการของผู้ป่วยโดยไม่ระมัดระวัง จากการรวบรวมข้อมูลปัจจัยด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต Dr. Hon เชื่อว่าความสัมพันธ์จะนำไปสู่การบำบัดและการให้ยาที่ตรงตามกรณี ซึ่งช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพดีขึ้น

การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพ มาในรูปแบบการช่วยเหลือให้คนพิการทางสายตาหรือคนตาบอด “รับรู้” ความเป็นไปรอบตัว Seeing AI เป็นโครงการเสริมศักยภาพโดย Microsoft Cognitive Services ซึ่งใช้ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API) อัจฉริยะเพื่อทำให้คนพิการทางสายตาหรือคนตาบอดสามารถจินตนาการสภาพที่อยู่แวดล้อมตนได้ทุกเมื่อ

โปรแกรมประยุกต์นี้ทำงานด้วยการถ่ายภาพหรือจับภาพ โดยจะมีเสียงพูดบอกสิ่งที่อยู่ในภาพนั้น เช่น อายุ สีหน้า และสิ่งที่บุคคลนั้นทำอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่จุดที่คนพิการทางสายตาหรือคนตาบอดจะไม่มีข้อจำกัดทางสมรรถภาพอีกต่อไป สามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

YouTube Video

นอกจากนี้ Dr. Hon ยังสนับสนุนการประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำทางเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) สำหรับการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน โดยยกตัวอย่างการบำรุงรักษาลิฟต์ในที่ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากช่างเทคนิคต้องดาวน์โหลดข้อมูลหลายรอบจากลิฟต์ที่เสียก่อนดำเนินการแก้ไข

เมื่อใช้ IoT จะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสร้างข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่มีการสึกหรออย่างหนัก เพื่อบำรุงรักษาตามกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม การบำรุงรักษาเชิงป้องกันจะประหยัดทั้งเวลา เงิน และแม้แต่ชีวิตที่เกี่ยวเนื่องในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่นโรงงานไฟฟ้า “จะว่าไปแล้ว คนทำงานในอาคารสูงเสียดฟ้าจะยินดีหากลิฟต์ทำงานอย่างรื่น” เขาพูดยิ้ม ๆ

เมื่อ AI พบกับ HI

ความรักระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์อาจไกลเกินจินตนาการของผู้สร้างภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ในชีวิตจริงระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์นั้น “เข้ากันได้ดี” Dr. Hsiao-Wuen Hon แห่ง Microsoft กล่าว เปรียบเสมือนการทำงานเป็นทีมของสมองสองซีก เขาคิดว่าคอมพิวเตอร์คือ “สมองซีกซ้ายที่ฉลาดที่สุด” ด้านตรรกะและเหตุผล ขณะที่มนุษย์คือ “สมองซีกขวาที่ฉลาดที่สุด” ด้านความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ และสติปัญญา เมื่อรวมกัน มนุษย์และแมชชีนจะสามารถสร้างสรรค์โลกทั้งสองด้านได้ดีที่สุด ดังนั้น เขาจึงแนะสมการใหม่ที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) + ปัญญามนุษย์ (HI) = ความอัจริยะ หรือปัญญาเสริม ถ้าคุณทำได้ ที่ Microsoft ปัญญาประดิษฐ์และอัจฉริยภาพแยกออกจากกันไม่ได้ด้วยซํ้าไป

YouTube Video

Dr. Hon กล่าวย้ำว่ามนุษย์ควรเป็นศูนย์กลางการสนทนาในเรื่องนี้เสมอ ไม่มีเหตุผลใดให้ต้องเกรงกลัวเครื่องจักรเลย หุ่นยนต์เพชฌฆาตมีแต่ในภาพยนตร์ ไม่ใช่ในชีวิตจริง อย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับก็ยังไม่พร้อมที่จะครองโลก จะว่าไปแล้ว รถยนต์เหล่านั้นมีกล้องรอบทิศทางที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์และเรดาร์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์เพิ่มเติมว่ามนุษย์ฉลาดกว่าหุ่นยนต์มากเพียงใด และก็เป็นเช่นนั้นอยู่วันยังค่ำ

แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ จะโทษใครได้? จะเอาอะไรกับหลักการควบคุมหุ่นยนต์ในหนังสือ “กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์” (Three Laws of Robotics) ของนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ Isaac Asimov ซึ่ง Dr. Hon คิดว่าผู้คนเข้าใจผิด ๆ กฎทุกข้อมีไว้ใช้กับมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ มีไว้เพื่อควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ที่กระทำต่อแมชชีน ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เครื่องมีต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างผิด ๆ ของฮอลลีวูดเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์หรือแมชชีนต่อกรกับมนุษย์ คือในภาพยนตร์จาก Skynet เรื่อง Terminator ไปจนถึงเรื่อง Ex Machina – Dr. Hon สังเกตเห็นปมร่วมอย่างหนึ่งคือ ลึก ๆ แล้วมนุษย์เรากลัวเสียรู้ให้เครื่องจักรเหล่านี้ แต่ที่จริงแล้วควรยึดทัศนคติเดียวกันที่ว่า เครื่องจักรกลทั้งหมดที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า อย่างรถแทรคเตอร์ รถยนต์ หรือเครื่องบิน คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยมนุษย์ทำงานที่หนักหนาหรือเดินทางไกล

ยังไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงว่าสามารถตั้งโปรแกรมเครื่องจักรหรือแมชชีนให้มีสติสัมปชัญญะได้ “เครื่องเปรียบเสมือนร่างที่ไร้วิญญาณ ถ้าไม่มีการตั้งค่าให้ ก็จะทำอะไรไม่ได้” เขากล่าว เครื่องจะถูกตั้งโปรแกรมให้มุ่งร้ายได้ แต่นั่นสะท้อนให้เห็นศีลธรรมของมนุษย์หรือผู้ตั้งโปรแกรมเอง ไม่ใช่การขาดมโนธรรมของหุ่นหรือเครื่องจักร เบื้องหลังalgorithm ไม่ว่าจะเขียนโปรแกรมได้ดีเพียงใด ก็คือมนุษย์นั่นเอง

นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต ความฉลาดคิดของมนุษย์ช่วยเรื่องการคำนวณที่แม่นยำในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับจักรวาล เช่น การคำนวณทางโคจรซึ่งจำเป็นสำหรับการส่งยานอวกาศลงบนดวงจันทร์ Dr. Hon กล่าว ซึ่งเขาจำได้แม่นถึงเมื่อตอนต่อแถวซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ครั้งแรกในช่วงปี 1970 และยังคงเป็นแฟนคลับของจักรวาลแห่งพลังอำนาจเรื่อยมา

YouTube Video

 

ในอนาคต เขาอยากให้ผู้คนมุ่งเน้นสิ่งที่ทำได้จริง โดยผสานความคิดมนุษย์เข้ากับความสามารถของคอมพิวเตอร์ มนุษย์ควรปล่อยให้เครื่องจักรหรือแมชชีนคำนวณข้อมูลที่ซับซ้อน แล้วจดจ่อกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อสร้างความเจริญก้าวยิ่งขึ้นของมวลมนุษย์ ไม่มีใครคิดแข่งคำนวณกับเครื่องจักร เช่น คำนวณรากที่สองของ 2 ออกมาเป็นจุดทศนิยมตัวสุดท้ายได้เร็วกว่า

“ความฝันของผมอาจมีประโยชน์กับคนอื่น และผมมั่นใจว่าความฝันของคนอื่น ๆ ก็จะมีประโยชน์กับผม นั่นเป็นเหตุผลที่ความหลากหลายและการผนวกรวมกันมีความสำคัญ AI + HI จะเผยความฝันของทุกคน”

หนทางข้างหน้าคือการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรหรือแมชชีน เพื่อสร้างรูปแบบ “ปัญญาเสริม” ที่ดียิ่งขึ้น เขามั่นใจว่าปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะนี้จะยังคงนำประโยชน์มากมายมาสู่ชีวิตมนุษย์ในหลากหลายด้าน รวมถึงmachine learning และ Internet of things ด้วย จุดมุ่งหมายในใจคือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ซึ่งจะสำเร็จได้ง่ายมากขึ้น และเป็นผลดียิ่งขึ้นในสถานที่ซึ่งเปิดรับและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ

ในอนาคต พัฒนาการปัญญาประดิษฐ์จะตื่นเต้นเร้าใจเป็นที่สุด เมื่อปัญญาประดิษฐ์และปัญญามนุษย์ร่วมกันทำความฝันของอีกหลาย ๆ คนให้เป็นจริง “ความฝันของผมอาจมีประโยชน์กับคนอื่น และผมมั่นใจว่าความฝันของคนอื่น ๆ ก็จะมีประโยชน์กับผม นั่นเป็นเหตุผลที่ความหลากหลายและการผนวกรวมกันมีความสำคัญ AI + HI จะเผยความฝันของทุกคน”

จากอุตสาหกรรมสู่การปฏิวัติที่มองไม่เห็น

“ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนเทวดาผู้พิทักษ์ ที่คอยปกป้องคุ้มครองคุณเสมอ”

การสร้างมุมมองความคิดมนุษย์ครั้งใหม่ระหว่าง “มนุษย์ เทียบกับ เครื่องจักร” สู่ “มนุษย์ ร่วมกับ เครื่องจักร” ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายชั่วข้ามคืน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะมนุษยชาติอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีถูกจำกัดที่อุปกรณ์ทางกายภาพน้อยลงเรื่อย ๆ แต่แพร่หลายและฝังติดในทุกที่มากขึ้น

Microsoft เรียกทัศนะทางเทคโนโลยีมีอยู่ทุกหนแห่ง แต่กระนั้นดูราวกับ “ไม่มีแห่งหนใด” ว่า “การปฏิวัติที่มองไม่เห็น” การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ขับเคลื่อนด้วยระบบคลาวด์ และพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น machine learning ซึ่งพัฒนาให้machineทำตามคำสั่งและทำงานที่มีข้อมูลมากได้ดีขึ้น “ประโยชน์สูงสุดของปัญญาประดิษฐ์ คือช่วยให้มนุษย์และองค์กรตัดสินใจได้ดีขึ้น” Dr. Hsiao-Wuen Hon แห่ง Microsoft แสดงความเห็น

YouTube Video

 

แต่เมื่อมนุษย์จะไม่ใช้เทคโนโลยีที่ตัวเองไม่เชื่อมั่น ฉะนั้น จะโน้มน้าวให้มนุษย์เต็มใจบอกเล่าข้อมูลของตัวเองมากขึ้นได้อย่างไร?

แนวทางของ Microsoft ต่อปัญญาประดิษฐ์จะเน้นย้ำความน่าเชื่อถือและเคารพข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ พร้อมกันนั้น ยังคงสานต่อเพื่อมอบวิถีการประยุกต์เพื่อมนุษย์มากขึ้น และมั่นใจว่าเป้าหมายสูงสุดของปัญญาประดิษฐ์ สอดคล้องกับภารกิจหลักด้านการเสริมประสิทธิภาพเทคโนโลยี ในฐานะตัวช่วย ตัวอย่าง แอปฯ สมัยใหม่ที่จะจดจำใบหน้าและวัตถุได้ รวมถึงเข้าใจภาษาธรรมชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้คนที่มีปัญหาทางสายตา “รับรู้” สิ่งรอบตัวได้ดีขึ้น พร้อมทั้งช่วยด้านการสื่อสารของคนที่มีปัญหาการฟังอีกด้วย

Xiaoice สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์ของแอปฯ ผ่านแพลตฟอร์มการสนทนา ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดที่ Microsoft สนับสนุน การสนทนาโดยธรรมชาติส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนคุยกันทางแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ลงตัวสำหรับ Xiaoice ในการเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ความรู้สึกและแสดงอารมณ์ร่วมกับมนุษย์

ภาษาจะกลายเป็นส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ (UI) หลักแบบใหม่ที่แบ่งระดับระบบนิเวศการสนทนาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรวมถึงมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับเครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิทัล มนุษย์กับหุ่นยนต์ และในอนาคต แม้แต่เครื่องช่วยงานดิจิทัลส่วนบุคคลกับหุ่นยนต์!

ล่าสุด Microsoft ประกาศว่าจะสร้างขอบข่ายของ BOTเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งนี่จะเพิ่มความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ในทุกสภาพการณ์ Dr. Hon พบว่าสิ่งนี้มีความหมายอย่างยิ่ง โดยที่ทุกคนซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ที่มั่งคั่ง จะสามารถมีผู้ช่วยส่วนบุคคลที่ทำให้ชีวิตพรั่งพร้อมมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ Dr. Hon คือโครงการ Urban Air จาก Microsoft Research Asia ซึ่งใช้เทคนิคการค้นหาข้อมูลและmachine learning เพื่อคาดเดาข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วเมืองอย่างละเอียดตามเวลาจริง Urban Air อิงข้อมูลจากรายงานของสถานีตรวจสอบที่มีอยู่และแหล่งข้อมูลที่สังเกตการณ์ในเมือง เช่น อุตุนิยมวิทยา ปริมาณจราจร ความเคลื่อนไหวของมนุษย์ โครงสร้างโครงข่ายถนน และจุดสนใจ เพื่อสามารถระบุคุณภาพอากาศตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ (ตร.กม.) หรือเป็นการชั่วคราว (ทุกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า) จากนั้นกรมต่าง ๆ ในจีนจะใช้ข้อมูลเชิงลึกในการวางแผนกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อจัดระเบียบความแออัดในพื้นที่เสี่ยงให้มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ขอบข่ายหุ่นยนต์ วิทยาการเครื่องจักร และระบบกระบวนความคิด ทั้งสามล้วนเป็นหนึ่งในชุดเครื่องมือ Cortana Intelligence Suite ซึ่ง Microsoft ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแปรข้อมูลเป็นการดำเนินการอัจฉริยะ ชุดเครื่องมือ Cortana Intelligence Suite สำคัญต่อการเกิดการปฏิวัติที่มองไม่เห็น ซึ่งประจักษ์ถึงการพึ่งพากันที่มากยิ่งขึ้นของมนุษย์และเครื่องจักร เพื่อสังคมที่ก้าวหน้าและชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน “ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนเทวดาผู้พิทักษ์ ที่คอยปกป้องคุ้มครองคุณเสมอ”

Dr. Hsiao-Wuen Hon รองประธานบริษัท Microsoft Research Asia Microsoft Asia-Pacific R&D Group
Dr. Hon ผลักดันกลยุทธ์ของ Microsoft ด้านการวิจัยและพัฒนากิจกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เขาทำงานกับ Microsoft ตั้งแต่ปี 1995 และร่วมงานกับ Microsoft Research Asia ในปี 2004 โดยดูแลการวิจัยด้านการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต การพูด ภาษาธรรมชาติ ระบบ เครือข่ายไร้สาย และการสร้างเครือข่าย นอกจากนี้ เขาก่อตั้งและบริหารศูนย์เทคโนโลยีการค้นหา (STC) ตั้งแต่ปี 2005 ถึงปี 2007 และดูแลการพัฒนา Bing ในเอเชียแปซิฟิก

 

 

Koh Buck Song
Koh Buck Song เป็นนักเขียนซึ่งเขียนและแก้ไขเนื้อหาในหนังสือมามากกว่ายี่สิบเล่ม รวมถึงเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ กลยุทธ์การสื่อสาร และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในสิงคโปร์ เขาผลักดันสิงคโปร์ให้ขึ้นสู่ตำแหน่ง “Global entrepolis” ในฐานะอดีตหัวหน้าฝ่ายการตลาด การสื่อสารองค์กร และการวางแผนกลยุทธ์ ที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 1999 ถึงปี 2005 นอกจากนี้ Buck Song ยังเป็นอดีตหัวหน้างานฝ่ายการเมืองของ The Straits Times เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยลอนดอนในสหราชอาณาจักร และจากวิทยาลัยการปกครองจอห์นเอฟเคนเนดี ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นนักเรียน Mason Fellow และจบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์