อะไรเป็นเรื่องใหญ่ของเทคโนโลยีการศึกษาในเอเชีย?

 |   Thornthawat Thongnab

ณ ใจกลางเมืองเมืองหนึ่งในเอเชีย นักเรียนคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องเรียน และจดบันทึกบทเรียนด้วยแล็ปท็อป ระหว่างทางกลับบ้าน เธอแก้ไขการบ้านเป็นครั้งสุดท้ายบนแท็บเล็ตและส่งการบ้านผ่านทางแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงของโรงเรียน

ในเขตชานเมือง นักเรียนอีกคนโทรศัพท์ไปแจ้งโรงเรียนว่าจะขาดเรียนเพราะรถโดยสารประจำทางสายเดียวที่พาเขาไปโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างออกไปหนึ่งชั่วโมง ไม่มาในวันนั้น เขาสัญญาว่าจะตามบทเรียนให้ทันโดยใช้สมาร์ทโฟนของพ่อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้าน เมื่อพ่อของเขากลับบ้านในคืนนั้น

นี่เป็นสองตัวอย่างเกี่ยวกับนักเรียนจากด้านที่แตกต่างกันของความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ (Digital divide) การเข้าถึงการเรียนรู้แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคในเอเชีย และสถาบันการศึกษาและรัฐบาลต่างกำลังหันไปใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดช่องว่างเหล่านั้น ต่อไปนี้เป็นข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในเอเชีย:

  • การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

เนื่องจากมีการใช้สมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวางทั่วเอเชีย รวมถึงในพื้นที่ด้อยพัฒนา โรงเรียนและรัฐบาลต่าง ๆ จึงใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา จีน อินเดีย และอินโดนีเซียเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อันดับต้น ๆ ของโลก ผลิตภัณฑ์การเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทั้งแอปและบริการเสริม (VAS) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุด

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มาใช้ ได้ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทุกวันนี้ หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์มีให้บริการบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดย Mahoni ธุรกิจสตาร์ทอัพท้องถิ่น Kelase แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนตัวเพื่อการศึกษา และระบบบทเรียนออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน (MOOC) ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือของตัวเองเพื่อใช้เสริมกับเว็บไซต์แบบเดสก์ท็อป เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นทุกที่ทุกเวลา

  • การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21

มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของงานในปัจจุบันต้องใช้ทักษะด้านเทคโนโลยี และจะเพิ่มจำนวนเป็น 77 เปอร์เซ็นต์ภายในไม่เกินหนึ่งทศวรรษ การพัฒนาเหล่านี้กำลังทำให้ทักษะในศตวรรษที่ 21 และความพร้อมสำหรับอนาคตเป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายด้านการศึกษาทุกครั้ง นักการศึกษาทั่วทั้งภูมิภาคกำลังมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมผู้เรียนเข้าสู่สถานที่ทำงานแห่งอนาคต โดยเสริมสร้างทั้งทักษะทางดิจิตอลและทักษะทางปัญญา เช่น การสื่อสารและความเป็นผู้นำ

ในประเทศฟิลิปปินส์ กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตัวหลักสูตรอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลายแบบใหม่ ซึ่งรวมเอาแนวคิด “การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ” เป็นเนื้อหาวิชาหลัก โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อช่วยให้ชาวฟิลิปปินส์วัยหนุ่มสาวเติบโตประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากนี้ นักการศึกษาจำนวนมากทั่วทั้งเอเชียยังใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น Microsoft Educator Community เพื่อเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในห้องเรียน

  • การเรียนรู้ส่วนบุคคล

แม้ว่าการปรับแต่งแบบส่วนบุคคลจะไม่ใช่แนวคิดใหม่ในเรื่องการศึกษา แต่เทคโนโลยีได้ส่งเสริมการปรับแต่งแนวทาง หลักสูตร และประสบการณ์การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการเรียนรู้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของนักเรียนแต่ละคน เนื่องจากมีข้อมูลและการวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้น จึงสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่ปรับตามนักเรียนแต่ละคนได้ และนำมาประยุกต์ใช้ผ่านโซลูชันการศึกษาแบบดิจิตอลโดยไม่จำเป็นต้องจ้างครูเพิ่ม ซึ่งทรัพยากรที่มีจำกัดในหลายพื้นที่ของเอเชีย

สถาบันอุดมศึกษาในเอเชียหลายแห่งกำลังเริ่มใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ส่วนบุคคลให้ดียิ่งขึ้น มหาวิทยาลัย Universiti Brunei Darussalam (UBD) ในบรูไน กำลังร่วมมือกับ Mindplus Education บริษัทด้านเทคโนโลยีในประเทศ เพื่อวิจัยและพัฒนาโซลูชันการเรียนรู้แบบส่วนบุคคล ที่สนับสนุนความต้องการของนักเรียนทางออนไลน์และในห้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น

Republic Polytechnic สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสิงคโปร์ เพิ่งยกเครื่องระบบการจัดการการเรียนรู้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ซึ่งสนับสนุนการศึกษาเฉพาะบุคคลด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้ผลการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น

เทคโนโลยีไม่อาจแก้ปัญหาได้ทันที

แม้ว่าจะมีเครื่องมือและแนวคิดทางเทคโนโลยีมากมายที่สามารถช่วยลดช่องว่างทางดิจิตอลได้—แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทราบว่าวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมและแผนดำเนินการที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิรูป Microsoft Education มุ่งมั่นที่จะช่วยโรงเรียนและรัฐบาลต่าง ๆ ให้ก้าวไปอีกขั้นในการปฏิรูปทางดิจิตอล—เพื่อช่วยให้นักเรียนในเอเชียประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น