ร่วมเฉลิมฉลองขึ้นปีที่ 16 การแข่งขันอิมเมจิ้นคัพ 2018 ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “Code with Purpose”
พร้อมตอกย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยี และสนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกในเชิงบวกของนักเรียนและนักศึกษา
กรุงเทพฯ – 28 มีนาคม 2561 – ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศผลทีมผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2018 (Imagine Cup Thailand 2018) โดยทีม BeeConnex จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับชัยชนะท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นใน 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ด้วยการนำเสนอแนวคิดระบบรังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) แพลตฟอร์มเพื่อการจัดการการเลี้ยงผึ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้ง มุ่งหวังแก้ไขปัญหาโรคตายทั้งรังในผึ้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
โครงการอิมเมจิ้นคัพของไมโครซอฟท์เป็นโครงการทีเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาในประเทศไทย ได้คิดค้นโซลูชั่นประเภทคลาวด์เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ไมโครซอฟท์จึงได้จัดการแข่งขันภายใต้ธีม “Code with Purpose” เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้เข้าแข่งขันโครงการอิมเมจิ้นคัพด้วยการเพิ่มโอกาสในการเสริมสร้างทักษะด้านการพัฒนาคลาวด์ให้กับนักเรียนและนักศึกษา และให้ผู้เข้าแข่งขันนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์และโครงงาน เพื่อลุ้นโอกาสในการชนะรางวัลเงินสด เครดิต Azure และยังได้รับคำแนะนำที่ช่วยยกระดับแนวคิดของพวกเขาไปอีกขั้นด้วย
แนวคิดที่นำเสนอโดยเหล่านักเรียนและนักศึกษาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดียิ่งขึ้น และการใช้คลาวด์เพื่อทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริง ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันต่างนำเสนอแนวคิดอันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ Azure ด้วยการใช้เทคโนโลยีหลายประเภท ประกอบด้วย การใช้ Cognitive Services 27%, App Services 19% Compute 15% Storage 15% Database 8% IoT 8% รวมถึง AI และ Machine Learning 8%
นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความก้าวหน้าของการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะส่งผลกระทบต่อตลาดงานในวงกว้าง เนื่องจากงานหลายประเภทจะถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น จากผลการสำรวจ“ปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” ที่จัดทำขึ้นโดยไมโครซอฟท์และไอดีซี เอเชียแปซิฟิก เผยว่า 95% ของงานในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ไมโครซอฟท์จึงยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อจะเป็นหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนและนักศึกษาจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการอิมเมจิ้นคัพ ด้วยคำแนะนำที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาแนวคิดของตนเองไปอีกขั้นต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจ พร้อมเสริมความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ความฝันของพวกเขากลายเป็นจริงได้ เด็กไทยเองก็มีศักยภาพสูง เราชนะระดับโลกมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่มีการแข่งขันมา”
ทีม BeeConnex ทีมผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2018 ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นายบุญฤทธิ์ บุญมาเรือง นายวัชริศ บุญยิ่ง และนายทิติยะ ตรีทิพไกวัลพร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอแนวคิดระบบรังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) แพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถบริหารจัดการการเลี้ยงผึ้งได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการวิเคราะห์จากอุปกรณ์ไอโอทีและเสียงที่สามารถตรวจจับและแจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้งผ่านแดชบอร์ดและแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารผ่านการส่งข้อความ
นายบุญฤทธิ์ บุญมาเรือง สมาชิกนักศึกษาจากทีม BeeConnex กล่าวว่า “ผึ้งเป็นแมลงสำคัญในระบบนิเวศน์ ซึ่งมีการวิจัยว่าถ้าไม่มีผึ้งระบบนิเวศน์อาจจะถูกทำลายทันที อีกทั้งผึ้งยังเป็นแมลงสำคัญทางเศรษฐกิจ การเลี้ยงผึ้งในปัจจุบัน เกษตรกรยังคงประสบปัญหาผึ้งตายยกรัง ทีมเราจึงอยากทำความเข้าใจปัญหาของผึ้งอย่างลึกซึ้ง ถึงแม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับผึ้งนั้นมีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง จากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่เราติดตั้งไว้เราพบว่าผึ้งจะมีการส่งสัญญาณต่างๆ ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบนับไม่ถ้วน หรือเรียกว่า ‘Bee Dance’ โดยอุปกรณ์เซ็นเซอร์นี้จะส่งข้อมูลไปยัง cloud computing ที่ทำงานอยู่บน Microsoft Azure ตามที่ได้ตั้งโจทย์กันไว้ว่าเราจะทำงานทุกอย่างบนคลาวด์ แต่ทำให้ผมรู้ว่า มันไม่ใช่แค่โจทย์ แต่มันทำให้การศึกษารูปแบบต่างๆ ที่นับไม่ถ้วน ถูกแยกแยะได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการแยกแยะรูปแบบที่ยากอย่างเสียงที่ผึ้งส่งสัญญาณ ซึ่งโสตน์ของมนุษย์ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังทำได้ในระยะเวลาอันสั้นอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยวิเคราะห์แล้ว cloud computing ยังสามารถเตือนให้เราทราบก่อนที่จะเกิดการตายยกรังได้อีกด้วย นั่นหมายถึงโซลูชั่นนี้สามารถวิเคราะห์และทำนายเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีได้ โดยจะส่งสัญญาณทันทีที่พบว่าผึ้งมีอาการผิดปกติ”
การแข่งขันในปีนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรรายสำคัญ คือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ และสิริเวนเจอร์ส พร้อมมอบ รางวัลพิเศษ 2 รางวัล ด้านโครงงานดีเด่นเพื่อการศึกษา (Education on the Cloud powered by UNICEF) จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และ โครงงานดีเด่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Smart Living on the Cloud powered by SiriVentures) จาก สิริเวนเจอร์ส
ด้วยความร่วมมือนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่เยาวชน โดยทีมที่ได้รับรางวัลโครงงานดีเด่นเพื่อการศึกษา คือ ทีม Bot Therapist ทีมนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้นำเสนอแนวคิดหุ่นยนต์ “บลิส”(Bliss) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กออทิสติกในการเรียนรู้และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และ ทีม inSpectra ทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลโครงงานดีเด่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นโครงงานแนวคิดระบบตรวจจับการรั่วไหลของแก๊สด้วยภาพสเปคตรัม
ดร. รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจหลักของเราคือการผลักดันโอกาสทางการศึกษาที่ดีที่สุดให้แก่เยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ และด้วยบทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันอิมเมจิ้นคัพจึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และช่วยเสริมทักษะเตรียมพร้อมเยาวชนได้อย่างมีศักยภาพและเหมาะสมที่สุด” ในขณะที่ นายจีระวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Head of Ecosystem สิริเวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ในทุกแง่มุม เมื่อถูกนำมาประยุกต์ใช้กับแนวคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสม และเยาวชนก็นับเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยริเริ่มนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดียิ่งขึ้นได้ ในฐานะที่เราเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่ออนาคตของการใช้ชีวิต เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่ และผลักดันให้แนวคิดเชิงนวัตกรรมของพวกเขาเกิดขึ้นจริงได้”
ทั้งนี้ ทีม BeeConnex ผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย ประจำปีนี้ จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมกับทีม inSpectra ที่ได้รับรางวัลโครงงานดีเด่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากสิริเวนเจอร์ส ไปร่วมแข่งขันอิมเมจิ้นคัพ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 4 เมษายน 2561 และจะร่วมแข่งขันกับทีมจากประเทศอื่นๆ อีก 9 ประเทศ เพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนของภูมิภาคไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ณ กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ โดยเยาวชนมากความสามารถจากทั่วโลกจะมาร่วมแข่งขันเพื่อชิงถ้วยอิมเมจิ้นคัพ และเงินรางวัลมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ