ไมโครซอฟท์หนุนแนวคิดการพัฒนาตนเองผ่านโปรแกรมเมนเทอร์ในองค์กร กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของกลุ่มผู้หญิงทำงานยุคใหม่

 |   Thornthawat Thongnab

กรุงเทพฯ – 21 พฤษภาคม 2561 – ไมโครซอฟท์ย้ำความสำคัญการสร้างความหลากหลายและเท่าเทียมกันในองค์กร ด้วยการเตรียมความพร้อมผู้หญิงยุคใหม่ ส่งเสริมความสำคัญของการมีเมนเทอร์ซึ่งสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องชีวิตการทำงานและเรื่องส่วนตัวรอบด้านและเฉพาะตัว เพื่อช่วยแนะนำและกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับตัวบุคคล พร้อมเปิดโอกาสสนับสนุนพนักงานหญิงสู่การเป็นเมนเทอร์เพื่อให้คำปรึกษาเสริมสร้างกำลังใจไปพร้อมกับเพิ่มศักยภาพในการทำงาน บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าโปรแกรมเมนเทอร์ (ระบบที่ปรึกษา) จะช่วยปรับทั้งทัศนคติประกอบกับช่วยจัดการความท้าทายให้พนักงานได้ดียิ่งขึ้น และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กร ที่สามารถส่งผลมายังความสุขในชีวิตส่วนตัว โดยหนึ่งในการสนับสนุนโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายไปสู่สังคมภายนอก คือ การร่วมมือกับ LeanIn องค์กรระดับโลกที่มุ่งเสริมสร้างให้ผู้หญิงเดินตามความฝันของตัวเอง โดยครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาเชิงแลกเปลี่ยนและแนะแนวทางสู่การเป็นเมนเทอร์มืออาชีพพร้อมโอกาสในการพบปะเมนเทอร์ที่ให้คำปรึกษาได้อย่างแท้จริง

ผลสำรวจของ LeanIn และบริษัทแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี พบว่าพนักงานชายกล่าวว่าหัวหน้างานผู้อาวุโสกว่าที่ช่วยให้คำปรึกษาและทำให้พวกเขาก้าวหน้าในที่ทำงานจำนวนกว่าสองในสามเป็นผู้ชายเหมือนกัน และมีเพืยงหนึ่งในสามเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง[1] จากผลสำรวจนี้นับเป็นเรื่องสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าเมนเทอร์มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เมนเทอร์ผู้หญิงที่จะเข้ามาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและให้คำปรึกษายังมีจำนวนไม่มากนัก

สำหรับไมโครซอฟท์ การเปิดโอกาสให้พนักงานได้รับคำปรึกษาผ่านโปรแกรมเมนเทอร์เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนทั้งการพัฒนาบุคลากรให้ได้รับคำปรึกษาจากเมนเทอร์ รวมไปถึงเปิดโอกาสพัฒนาให้พนักงานที่มีความรู้ประสบการณ์และความสนใจในการช่วยพัฒนาผู้อื่นเข้ามาเป็นเมนเทอร์ และเพื่อให้โปรมแกรมเมนเทอร์สามารถตอบโจทย์ให้ได้ตรงตามเป้าหมายของพนักงานแต่ละกลุ่ม บริษัทฯ มีการจัดโปรแกรมที่มีความหลากหลายอันประกอบด้วย

  1. พนักงานทั่วไป – โปรแกรมจัดหาเมนเทอร์ให้กับพนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานได้รับคำปรึกษาที่เฉพาะเจาะจงกับเป้าหมายในการทำงานหรือการพัฒนาสายอาชีพของแต่ละบุคคล
  2. MACH (Microsoft Academy of College Hires) หรือ โครงการพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ – โครงการสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ให้พร้อมร่วมงานกับไมโครซอฟท์อย่างมีศักยภาพและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยคำปรึกษาจากเมนเทอร์
  3. ผู้บริหารหญิง – โครงการ ‘APAC Female Leadership Development’ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนเส้นทางสู่การเป็นผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้ผู้บริหารหญิง 50 คน จากไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เข้าร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเป็นเมนเทอร์มืออาชีพ อย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องถึง 6 เดือน

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด “ผมเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จถึงสองท่าน คือคุณแม่และพี่สาว ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและแรงบันดาลใจที่สำคัญในการตัดสินใจเรื่องการทำงานของผม เพราะผมเชื่อว่าผู้หญิงจะมีมุมมองและประสบการณ์อันละเอียดอ่อนในการมองเห็นโอกาสหลายอย่างที่เรามองข้ามไป เพราะฉะนั้น ไมโครซอฟท์จึงให้การสนับสนุน LeanIn ในการส่งเสริมผู้หญิงเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ให้พร้อมสู่การเป็นเมนเทอร์แบบมืออาชีพ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีเมนเทอร์หญิงเป็นพี่เลี้ยงที่จะช่วยดึงศักยภาพของผู้หญิงยุคใหม่ออกมาได้ดีกว่า และเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ เช่นเดียวกับผม ผมคงไม่ก้าวมาถึงวันนี้ได้หากขาดเมนเทอร์ที่ดีอย่างผู้หญิงที่ผมเคารพทั้งสองท่าน”

ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยมีสัดส่วนของพนักงานหญิงถึงกว่าร้อยละ 50 โดยมีผู้บริหารระดับผู้จัดการอาวุโสที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด เพราะเราเชื่อว่าความสำเร็จและความก้าวหน้าของทุกองค์กรมาจากความหลากหลายของทีมงานที่มาพร้อมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และพื้นฐานที่แตกต่างกัน ที่พนักงานสามารถนำมาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้ และสำหรับพนักงานหญิงโดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ยังให้สวัสดิการวันลากับคุณแม่ที่ลาคลอดบุตรถึง 20 สัปดาห์พร้อมจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน และ 6 สัปดาห์สำหรับคุณพ่อมือใหม่หรือผู้ปกครองที่อุปการะบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ 4 สัปดาห์สำหรับพนักงานที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการป่วยรุนแรง เพื่อพนักงานสามารถใช้เวลาอยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักอย่างหมดกังวล

นางสาวชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “พันธกิจหลักของไมโครซอฟท์ คือ การเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ให้บรรลุผลสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งการทำให้พันธกิจนี้บรรลุผลสำเร็จจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่เริ่มต้นจากการดูแลพนักงานของเราให้ก้าวสู่หนทางแห่งความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหนึ่งในนั้นคือการจัดให้มีโปรแกรมเมนเทอร์ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมีความรู้ความสามารถและมีความมั่นใจในการทำหน้าที่เมนเทอร์ให้แก่ผู้หญิงคนอื่น ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นในสิ่งที่ฝันได้มากที่สุด เราจึงจะยังคงมุ่งมั่นสร้างความหลากหลายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในองค์กรไอทีชั้นนำที่ให้โอกาสในการทำงานและพัฒนาตนเองกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาและเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในวงการเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ”

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการกับ LeanIn.Org กับงานอบรมในหัวข้อ Mentorship Matters” หรือ “เมนเทอร์กับความก้าวหน้าของผู้หญิง” เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในที่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในที่ทำงานของพนักงานทุกคน ซึ่งมีผู้หญิงรับบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งในงานมีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้หญิงรุ่นใหม่มากกว่า 50 คน จากหลายบริษัทชั้นนำในประเทศไทย มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการมีเมนเทอร์เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และสร้างแรงบันดาลใจให้กล้าออกไปเป็นเมนเทอร์แก่ผู้หญิงคนอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนของชีวิตการทำงานก็ตาม ซึ่งผู้มาร่วมงานได้รับเกียรติแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงหลายท่านจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คือ คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และบริหารลูกค้า คุณศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการผ่ายพันธมิตรการศึกษา และคุณณฤดี คริสธานินทร์ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายการสร้างแรงบันดาลใจ จาก บริษัท ยูเรก้า อินเตอร์เนชันแนล

นางสาวณัฐทยา คูสุวรรณ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ทอมสัน รอยเตอร์ สิงคโปร์ และ Chapter Leader ของ LeanIn ในประเทศไทย กล่าวว่า “ในภาพรวมของประเทศไทย มีผู้หญิงเพียง 31% เท่านั้นที่เป็นผู้บริหารระดับสูง[2] การพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงไทยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ด้วยความตั้งใจหลักของ LeanIn ในการเป็นชุมชนเพื่อให้ผู้หญิงได้มาพบกันเพื่อแบ่งปันเรื่องราวที่จะช่วยสร้างสมดุลทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง หนึ่งในบทเรียนสำคัญของชีวิตที่จะช่วยสร้างความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดให้กับผู้หญิง คือการส่งเสริมความสำคัญของการมีเมนเทอร์รวมทั้งพัฒนาทุกคนสู่การเป็นเมนเทอร์โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยเป็นที่ปรึกษาทางอาชีพให้กับผู้หญิงได้เป็นอย่างดีทั้งสิ้น การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ในครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในการสร้างโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงจากหลากหลายวงการได้มาพบกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามองเห็นเส้นทางสู่ความสำเร็จจากการรับฟังคำปรึกษาของเมนเทอร์สู่การเป็นเมนเทอร์ด้วยตัวเอง เพื่อส่งต่อความสำเร็จสู่ผู้อื่นได้ต่อไป”

นางสาวไปรยา อุรานุกูล ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด (ที่ปรึกษาของ บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)) กล่าวส่งท้ายว่า “จุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันหันมาสนใจ LeanIn มาจากการที่ฉันได้เริ่มศึกษาประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศตอนที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และได้อ่านหนังสือเรื่อง Lean In โดย เชอริล แซนด์เบิร์ก ซึ่งส่วนตัวดิฉันแล้วเชื่อว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่หากว่าเราล้มเหลวหรือผิดพลาดเร็ว เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองเร็วยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ฉันเชื่อว่าการมีเมนเทอร์จะช่วยให้ฉันได้รับคำแนะนำที่ตรงจุด จากผู้ที่มีความสนใจคล้ายกันและมีประสบการณ์ในเรื่องที่ฉันต้องการคำแนะนำจริงๆ ซึ่งมักเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ต้องลองผิดลองถูกหรือค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง กิจกรรมในวันนี้จึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันเป็นอย่างมาก เพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนล้วนแต่เป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นได้”

[1] LeanIn.Org และ McKinsey & Company

[2] Grand Thornton Research (The Nation, March 2017)