ไมโครซอฟท์ร่วมกับสิริเวนเจอร์สจัดงาน #MakeWhatsNext DigiGirlz เปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงทั่วประเทศแข่งโค้ดดิ้งผ่าน micro:bit เป็นครั้งแรก

 |   Thornthawat Thongnab

Man and women holding micro:bit boards

โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับมัธยมกว่า 20 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ สร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM)

กรุงเทพฯ – 3 เมษายน 2562 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด จัดกิจกรรม #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #MakeWhatsNext โครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่มุ่งมั่นจะที่สนับสนุนเด็กผู้หญิงในการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM) ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะผลักดันศักยภาพของเยาวชนหญิงผ่านการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit ของบีบีซี โดยกิจกรรมในปีนี้ได้รับความสนใจจากเด็กผู้หญิงชาวไทยจำนวนมาก และมีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน

จากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ช่องว่างระหว่างเพศด้านโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นยังคงมีขอบเขตที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ โดยการกำจัดช่องว่างระหว่างเพศนั้นถูกคาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เวลาถึง 202 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่าจากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง การพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยปราศจากความสามารถที่หลากหลาย ทำให้เราจำกัดความสามารถในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ครอบคลุมลงไป และมีโอกาสในการนำเสนอชุดข้อมูลและอัลกอริธึมที่มีการละเลยความลำเอียงทางเพศอีกด้วย 

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขาสะเต็มศึกษา อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ได้ โดยมีการคาดการณ์ที่ระบุว่าหากจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มมีไม่เพียงพอจะทำให้เกิดตำแหน่งงานว่างจำนวนหลายหมื่นตำแหน่งในอนาคต รวมถึงการพลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมในอีกหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น การสร้างความสนใจ พัฒนา และสนับสนุนผู้หญิงให้เติบโตในสาขาสะเต็มศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่าสังคมในอนาคตจะประกอบไปด้วยคนที่มีความสามารถหลากหลายด้านบนความหลากหลายของมุมมองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม นั่นคือเหตุผลที่ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นให้เยาวชนทุกคน รวมถึงกลุ่มเด็กผู้หญิง ได้รับโอกาสในการเข้าถึงทักษะ ตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองและเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัลเพื่ออนาคตอันใกล้”

 

กิจกรรม #MakeWhatsNext DigiGirlz 2019 Thailand ซึ่งถูกจัดขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทยให้รับรู้ถึงศักยภาพของตัวเองรับรู้ถึงทิศทางที่ถูกต้อง และรู้เส้นทางเพื่อจะสามารถทำตามความฝันด้านสะเต็มศึกษาให้สำเร็จ โดยภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนา “จุดประกายอาชีพมาแรงในยุคปัญญาประดิษฐ์ ทำไมน้องผู้หญิงจึงควรศึกษาในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์” รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit  นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีกิจกรรมเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • 19 เมษายน 2562 – ทีมผู้เข้าแข่งขัน 9 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอแนวคิดโครงงาน พร้อมรับคำแนะนำจากโค้ชและรับชุด micro:bit เพื่อประดิษฐ์ผลงาน
  • 10 พฤษภาคม 2562 – ทีมผู้เข้าแข่งขัน 9 ทีมนำเสนอผลงานที่ประดิษฐ์ด้วยชุด micro:bit และคณะกรรมการประกาศผลการแข่งขัน

“เหตุผลที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจกับสะเต็มศึกษานั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากคนรอบข้าง ไปจนถึงการขาดบุคคลที่เป็นแบบอย่าง รวมถึงการสร้างการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษา ทำให้จำนวนผู้หญิงที่เข้ามาประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มมีจำนวนลดลง การชักจูงให้เด็กผู้หญิงหันมาให้ความสนใจสะเต็มศึกษามากขึ้นนั้นจะต้องใช้วิธีการที่ครอบคลุม และช่วยให้เขามองเห็นโอกาสของอนาคตในการทำงานของเขา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดี การสนับสนุนที่เหมาะสม และการให้คำปรึกษาที่จุดประกายความสนใจและความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กผู้หญิง ไมโครซอฟท์ภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและสนับสนุนเด็กผู้หญิงให้มีทัศนคติที่เชื่อว่าพวกเขาทำได้ดีและมีกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การเติบโต และกิจกรรมในวันนี้ผมเชื่อว่าสามารถเป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มที่จะช่วยประเทศไทยในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างชายหญิงได้สำเร็จ” นายธนวัฒน์ กล่าว

 

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดิฉันในฐานะเป็นตัวแทนภาครัฐมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext – DigiGirlz Thailand 2019 ต้องขอบคุณไมโครซอฟท์และสิริเวนเจอร์สที่ได้จัดงานดีๆแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งจะส่งประโยชน์เป็นอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนหญิงในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเหล่านักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษาและคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะเชิงดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และชาญฉลาดเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงานในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในสายอาชีพในสาขาสะเต็มในอนาคต”

 

หลังจากการเปิดงานอย่างเป็นทางการ เด็กนักเรียนหญิงผู้เข้าร่วมโครงการยังได้รับแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มจากภาครัฐและภาคเอกชนหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ประกอบด้วยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด บริษัท วิจจา จำกัด บริษัท เซ็นโทรวิชั่น จำกัด และบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด

Smiling woman talking in panel discussion

นางสาวอริญชยา ตรีคุณประภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิจจา จำกัด กล่าวว่า “ตั้งแต่เด็กก่อนที่จะเริ่มหันมาสนใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะสาขาสะเต็ม เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาประกอบอาชีพในสาขานี้ เพราะในอดีต สาขาสะเต็มถูกมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย เนื่องจากบางอาชีพต้องมีการใช้แรง เช่น วิศวกร รวมถึงส่วนตัวแล้วไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์เท่าไรนัก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ขอบเขตอาชีพในสาขาสะเต็มก็ครอบคลุมถึงการใช้งานเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยให้การคำนวณกลายเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น และ มีปัจจัยเชิงบวกที่ส่งเสริมผู้หญิงให้ประสบความสำเร็จในสาขาสะเต็มอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผู้หญิงจากผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะของผู้หญิง เช่น มีความตั้งใจ อดทน ใจเย็น และละเอียดรอบคอบ เป็นต้น นอกจากนี้ ขอฝากคำแนะนำให้กับเยาวชนว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและเชื่อว่าคนที่รู้ภาษาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี อย่างภาษาโค้ดดิ้ง จะทำให้คนคนนั้นมีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เปรียบเสมือนเป็นภาษาที่ 3 ของเด็กในโลกยุค AI”