ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน (Python) แก่อาจารย์จำนวนกว่า 50 คนจากทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ – 25 เมษายน 2562 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนไพทอนอย่างไรให้นักเรียนมัธยมศึกษาทำโครงงานอย่างง่ายได้” สำหรับอาจารย์ไทย เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคตแก่เยาวชน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ASEAN Digital Innovation” ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาเซียนและ ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์ในการเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรในภูมิภาคอาเซียนจากทุกภูมิหลังด้วยทักษะเชิงดิจิทัลที่สำคัญอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-35 ปี
เยาวชนคืออนาคตของประเทศไทย
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการจ้างงานมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตให้กับเยาวชนทุกคนจากทุกภูมิหลัง ด้วยทักษะและความรู้เชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย
ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่จัดทำขึ้นร่วมกันโดยไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก และไอดีซี ในหัวข้อ “Future Ready Business: Assessing Asia Pacific’s Growth Potential Through AI” ระบุว่าอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่มีอยู่อีกต่อไปในอนาคต และยังได้พบเห็นความต้องการที่มีต่อบทบาทของวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และความต้องการนั้นไม่ได้จำกัดเพียงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น ผลสำรวจดังกล่าวพบว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ทักษะที่ผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยมองหาจากพนักงานมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ทักษะเชิงความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะเชิงดิจิทัล
การเตรียมความพร้อมเยาวชนสู่อนาคตยุค AI
โครงการ “ASEAN Digital Innovation” มีวัตถุประสงค์ในการเข้าถึงบุคลากรและเยาวชนจำนวน 46,000 คนใน 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม และเตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาด้วยทักษะเชิงดิจิทัลที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว พันธมิตรในระดับท้องถิ่นจากทั้ง 7 ประเทศจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้กับอาจารย์จำนวนกว่า 500 คน ผ่านการใช้ประโยชน์จากหลักสูตรการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ
เพื่อสานต่อโครงการดังกล่าวในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเชนจ์ ฟิวชั่น จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนไพทอนอย่างไรให้นักเรียนมัธยมศึกษาทำโครงงานอย่างง่ายได้” แก่อาจารย์จำนวนกว่า 50 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคคลากรทางการศึกษา (train the trainers) จากความมุ่งมั่นในการเตรียมความพร้อมแก่ชาวไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของไมโครซอฟท์ โดยภายในงาน มีอาสาสมัครเยาวชนจาก Coder Dojo ชมรมนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์รุ่นเยาว์ที่มาร่วมให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่อาจารย์ภายในห้องเรียนด้วย
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ที่ไมโครซอฟท์ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีสามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนความครอบคลุมทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จากการเตรียมพร้อมเยาวชนด้วยทักษะเชิงดิจิทัล ทำให้เราสามารถเพิ่มโอกาสเชิงเศรษฐกิจให้กับพวกเขาได้สำเร็จ และในขณะเดียวกัน ยังทำให้เราสามารถจัดการกับภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถซึ่งเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังปฏิรูปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องประสบ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ยังมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการระดับภูมิภาค ‘ASEAN Digital Innovation’ ที่จะนำมาซึ่งการเติบโตเชิงเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ”
คุณศิรินุช ศรารัชต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘ASEAN Digital Innovation’ เกิดจากความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการสนับสนุนการจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนจากทุกภูมิหลัง โดยเฉพาะเยาวชนผู้หญิง ในการประกอบอาชีพในอนาคต เพราะเราเชื่อมั่นว่าการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เท่าเทียมและมีคุณภาพจะส่งเสริมให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่สำคัญเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานในทุกภาคอุตสาหกรรม”
นางสาวกาญจนา สิทธิรัตนยืนยง อาจารย์ผู้เข้าร่วมการอบรมฯจากโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ดิฉันไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอนมาก่อนเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อภาษาดังกล่าวได้ถูกรวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนโดยกระทรวงศึกษาธิการ ดิฉันจึงได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะดังกล่าว สำหรับความรู้ที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ ดิฉันได้วางแผนไว้ว่าจะนำไปเผยแพร่ให้กับนักเรียนอย่างแน่นอน โดยเริ่มจากการสอนวิธีเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอนในระดับเบื้องต้น และต่อยอดด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนโครงงานโดยใช้ภาษาไพทอนเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกปฏิบัติแบบลงมือทำจริง”
นายวุฒิชัย กัณหา อาจารย์ผู้เข้าร่วมการอบรมฯจากโรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา(ตี่ตง) จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า “การศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ในระบบเดิมเน้นสอนให้เด็กท่องจำทฤษฎีและเรียนรู้แค่สิ่งที่อยู่ในตำรา ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเด็กไม่มีกระบวนการคิดหรือเรียงลำดับขั้นตอนในการทำงาน เด็กจะไม่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการเรียนหรือประกอบอาชีพในอนาคตได้ ในฐาะนะครูยุค 4.0 ผมจึงพยายามแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนของผม ซึ่งผมรู้สึกว่าการเรียนภาษาไพทอนซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย นอกจากจะเสริมทักษะด้านดิจิทัลยังจะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์และพัฒนาทักษะด้านการแก้ไขปัญหา และถ้าเราสอนให้เด็กเข้าใจถึงกระบวนการในเชิงปฏิบัติได้อย่างถ่องแท้ เด็กๆ จะสามารถนำทักษะนี้ไปปรับใช้กับวิชาอื่น และการทำงานในอนาคตได้”
รศ.ดร.นพ. ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “หนึ่งในบทบาทที่สำคัญของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล คือการให้บริการด้านวิชาการและความรู้สู่สังคม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘สอนไพทอนอย่างไรให้นักเรียนมัธยมศึกษาทำโครงงานอย่างง่ายได้’ สามารถสะท้อนบทบาทของทางสถาบันฯเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เราต้องขอขอบคุณทางไมโครซอฟท์เป็นอย่างยิ่งที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในครั้งนี้จะช่วยทั้งด้านการเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลและขยายขอบเขตจินตนาการของคุณครู ซึ่งจะถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์แก่เยาวชนไทยต่อไป”
ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมทางด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ดึงความสามารถด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ และเสริมทักษะเชิงดิจิทัล ให้กับอาจารย์จำนวน 500 คน และนักเรียนจำนวน 50,000 คน ทั่วประเทศไทย