หนึ่งในโครงการที่ฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัล ภายใต้โครงการ ASEAN Digital Innovation ที่มุ่งส่งเสริมทักษะในเขตภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทย โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่
กรุงเทพฯ – 13 มิถุนายน 2562 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียน ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) โดยตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 50,000 คน โดยได้โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (หนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการที่จะได้รับการฝึกอบรมแบบเข้มข้นไปจนถึงช่วงปลายปี 2562 เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการแรงงานของตลาดในอนาคตโดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล
ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งได้ศึกษาความต้องการแรงงานในกลุ่มงานจากอุตสาหกรรมทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ EEC พบว่า ในระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการจ้างงานใหม่จำนวน 475,668 อัตรา ซึ่งความต้องการกลุ่มงานด้านดิจิทัลมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 24 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 116,222 อัตรา ดังนั้น ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคตของไมโครซอฟท์
โครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEAN Digital Innovation โครงการระดับภูมิภาคของไมโครซอฟท์ที่จัดขึ้นใน 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะให้แก่เยาวชนผ่านบุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) โดยใช้หลักสูตรการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษผ่านเว็บไซต์ Future Ready ASEAN ซึ่งถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปฏิรูปสู่ธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปดังกล่าวคือการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคต โดยในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลในตลาดถึง 100,000 คนตามผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยสกพอ. ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเสริมทักษะนั้นแก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของตลาด และนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นในการเติมเต็มภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยมีการกำหนดเป้าหมายการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ที่รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลคือการส่งเสริมและดำเนินการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนในพื้นที่ EEC ในครั้งนี้จึงมีความสอดคล้องกับภารกิจของเราโดยตรง และสอดคล้องกับโครงการ Coding Thailand ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนและครูชาวไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เราสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้สำเร็จ”
นอกจากความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในโครงการอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนในครั้งนี้ โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนการเขียนโค้ดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี มีบทบาทสนับสนุนวิทยากรในการสอนเพื่อฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษา 10 รุ่น และอาจารย์ที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 10 รุ่น เป็นจำนวนทั้งหมดกว่า 500 คน จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยหลักสูตรที่นำมาสอนจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดผ่าน Minecraft และ MakeCode ของทางไมโครซอฟท์ ไปจนถึงการเรียนรู้ภาษาไพทอน (Python) และการเขียนด้วยภาษา HTML5 และ CSS เพื่อสร้างเว็บไซต์ โดยวิทยากรในการสอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เป็นผู้พิการทั้งหมด
นางสาวโสภิตา จันทรส วิทยากรผู้สอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อว่าทักษะดิจิทัลเป็นทักษะที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของเด็กๆ ได้ ส่วนหน้าที่หลักของครูคือทำอย่างไรให้พวกเขาหันมาสนใจเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น ซึ่งดิฉันจะเน้นวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก เช่น การสอนเขียนโค้ดผ่านเกม รวมถึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าทักษะเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว อย่างการสอนเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ ได้สั่งสมทักษะและเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่เด็ก มันจะทำให้พวกเขาได้รับโอกาสที่ดีกว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น เพราะการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนกับการรู้ภาษาที่สามของยุคอนาคต”
นอกจากนี้ โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ยังเป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการดังกล่าว โดยนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกจากทางโรงเรียนจะได้รับการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแบบเข้มข้นและใกล้ชิดจากวิทยากรผู้สอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามนโยบายของภาครัฐ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไปจนถึงสิ้นปี 2562
เด็กหญิงถมทอง กิจวิสาละ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) กล่าวว่า “หนูเพิ่งได้มีโอกาสเรียนเขียนโค้ดเป็นครั้งแรก แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนเคยบอกไว้ พอได้เรียนการเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟก็รู้สึกว่ามันสนุก และทำให้หนูรู้สึกภูมิใจเวลาที่เขียนโค้ดได้สำเร็จ ที่สำคัญคือหนูรู้สึกว่าการเรียนเขียนโค้ดมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้หนูได้ฝึกจัดลำดับความคิดว่าต้องการอะไร และจะต้องออกแบบคำสั่งอย่างไร ซึ่งหนูเชื่อว่าหนูสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของหนู ไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้เทคโนโลยีเท่านั้น ที่จริงแล้ว หนูชอบเรียนศิลปะ และมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก แต่หนูรู้สึกว่าทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบที่ได้จากการเรียนเขียนโค้ดจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพสถาปนิกได้เช่นกัน”