ไมโครซอฟท์ สนับสนุนครูไทยหัวใจไอทีสู่เวทีระดับโลก

 |   Microsoft Thailand News Center

คุณครูเชาวน์ สุวรรณชล จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลงานดีเด่นในการนำเทคโนโลยี มาพัฒนาการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียน

 Microsoft Innovative Educator Expert

นายเชาวน์ สุวรรณชล (กลาง) คุณครูวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ครูในโครงการ Microsoft Innovative Educator Expert ผู้ชนะเลิศรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตัวแทนครูไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประชุมการศึกษาระดับโลกของไมโครซอฟท์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา และนายสุพจน์ ศรีนุตพงษ์ (ขวา) ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

กรุงเทพฯ 19 มกราคม 2558 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นายสมศักดิ์            มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา ประกาศผลการคัดเลือกตัวแทนครูจากประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมบนเวทีด้านการศึกษาระดับโลก Microsoft Global Educator Exchange (E2) ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายนนี้ โดยครูที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทย คือ นายเชาวน์ สุวรรณชล ครูวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งครูเชาวน์ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในครู 300 คน จากผู้สมัครกว่า 22,000 คนทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับโลกในครั้งนี้  หลังจากที่ครูเชาวน์ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ครูผู้ชนะเลิศ ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ Microsoft Innovative Educator (MIE) Expert ของประเทศไทย ประจำปี 2014 และได้เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

กิจกรรมการแข่งขันคุณครูหัวใจไอที หรือ Microsoft Innovative Educator (MIE) Expert (เดิมชื่อ Innovative Teacher) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Partners in Learning (PiL) ของไมโครซอฟท์ ซึ่งดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมทักษะเทคโนโลยีให้กับคุณครู   ทั่วประเทศเพื่อนำไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ในห้องเรียน จุดประกายความสนใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน โดยในปัจจุบัน มีครูกว่า 550,000 คนทั่วประเทศที่ได้รับการอบรมผ่านโครงการ PiL

เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ไมโครซอฟท์ คอร์ปอรชั่น ได้มุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับการศึกษา โดยไมโครซอฟท์ ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาทั่วโลก ในการสร้างเครือข่ายและชุมชนครูที่เข้มแข็ง และช่วยให้เกิดการค้นพบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียน

“ผมมีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมเวทีการศึกษาระดับโลกอย่าง Microsoft Global Educator Exchange การได้เข้าร่วมโครงการ PiL ของไมโครซอฟท์ ได้ช่วยเพิ่มพูนทักษะให้ครูอย่างพวกเราสามารถนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ที่ง่ายต่อการใช้งาน มาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียน ซึ่งหวังว่าการได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้จะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาความสามารถในการสอนของผมต่อไป” นายเชาวน์กล่าว

เทคโนโลยีที่ครูเชาวน์นำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ได้แก่ Sway แอพพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดในตระกูลไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างพรีเซนเทชั่นออนไลน์ ที่สามารถใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นพื้นฐานอย่าง PowerPoint และ OneNote สำหรับการสร้างภาพ   อินโฟกราฟฟิก ที่ใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเทคโนโลยีที่ครูเชาวน์นำมาใช้ดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการฝึกฝนการใช้โปรแกรมให้กับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ทักษะการนำเสนอ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำโซเชียลมีเดียมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง “เนื่องจากในปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่นิยมใช้โซเชียลมีเดียกันมาก เราจึงเลือกใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสองทางกับนักเรียน นอกจากนักเรียนจะได้ความสนุกสนานจากสื่อใหม่ๆ เหล่านั้นแล้วยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับครูในการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน” ซึ่งครูเชาวน์ได้ยืนยันถึงผลการเรียนที่ดีขึ้นระหว่างห้องเรียนที่ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนกับห้องเรียนที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

“ความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับชั้นเรียน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการคิดและการทำงานของทั้งนักเรียนและครูผู้สอน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ที่ทันสมัย และโอกาสในการเรียนรู้ได้มากขึ้น ในขณะที่ครูผู้สอนก็ได้รับโอกาสในการพัฒนาและฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21” ครูเชาวน์กล่าวทิ้งท้าย

นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนครูเชาวน์เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม E2 ด้วยความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอนของครูเชาวน์ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการกระตุ้นความสนใจของนักเรียนในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ และยังช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา”

ครูเชาวน์ เป็นตัวแทนครูยุคใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต ที่เปี่ยมไปด้วยทักษะที่จำเป็นในการทำงาน จากผลการศึกษาในหัวข้อ “Connecting to Work” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก เผยว่าอาชีพในอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศอินเดีย มีรายได้ที่สูงกว่าอุตสาหกรรมบริการถึง 2 เท่า ในขณะที่ในประเทศฟิลิปปินส์ อาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีจะมีรายได้สูงกว่าอัตราการจ้างงานขั้นพื้นฐานถึง 38 เปอร์เซ็นต์

“สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว ครู เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งไมโครซอฟท์ มีแนวคิดแบบ     องค์รวมในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวสู่สำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไป 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1) ความพร้อมของบุคลากรครู 2) เนื้อหาการเรียนการสอนแบบดิจิตอล 3) ซอฟต์แวร์และบริการคลาวด์ และ 4) ดีไวซ์ที่นำมาใช้ในห้องเรียน โดยทั้ง 4 องค์ประกอบมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดด้านทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร หรือความเข้าใจในเทคโนโลยี นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ยังให้ความสำคัญอย่างมากในการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของเด็กนักเรียน ไม่มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ล่าสุด ไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มแรกที่ลงนามในปฏิญญาณในการดูแลและปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเด็กนักเรียน หรือ “K-12 School Service Provider Pledge to Safeguard Student Privacy” ซึ่งจัดทำโดย Future of Privacy Forum (FPF) และ Software & Information Industry Association (SIAA) ซึ่งได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา

“ไมโครซอฟท์ ในฐานะองค์กรที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในพลังของการศึกษาและเทคโนโลยี มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ ภาคการศึกษาไทย และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครูเชาวน์ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้ง 70 ล้านคนให้ดียิ่งขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว

โครงการ PiL ของไมโครซอฟท์ ได้ดำเนินการในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 11 ปี ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วกว่า 550,000 คน จาก 39,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ในระดับโลก ไมโครซอฟท์ ได้ลงทุนทางด้านการศึกษาเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท) เพื่อการศึกษาในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย นั้น ได้ลงทุน 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 156 ล้านบาท) เพื่อร่วมพัฒนาการศึกษาไทย

ในปีที่ผ่านมา คุณครูคาดียะห์ อามานะกุล ครูภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) จังหวัดยะลา ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

###

ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (NASDAQ “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการ ซอฟต์แวร์ ดีไวซ์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536  มีความมุ่งมั่นในการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทย 70 ล้านคน ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ไมโครซอฟท์ ส่งเสริมให้คนไทยและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงศักยภาพที่มีอย่างเต็มเปี่ยมผ่านการใช้เทคโนยี เทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ในการทำงาน การใช้ชีวิต และการสื่อสาร ไมโครซอฟท์ให้บริการซอฟต์แวร์ บริการ และดีไวซ์ ที่สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ มีความสะดวกทันสมัย และช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไมโครซอฟท์ ไม่หยุดนิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตร อย่างต่อเนื่องในการนำพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand หรือติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสารประเทศไทย (https://news.microsoft.com/th-th-stage) และทวิตเตอร์ @MicrosoftTH

 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ (สำหรับสื่อมวลชน):

คุณพรรวี สุรมูล และ คุณวิชยากร จารุบัณฑิต

ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทย

โทรศัพท์: 0-2627 3501 ต่อ 110, 105

อีเมล: [email protected], [email protected]