โดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2562
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งข่าวสารและความเคลื่อนไหวมากมายรอบตัวเราต่างก็พูดถึงการนำเทคโนโลยีมายกระดับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น และภาพที่อยู่ในใจของทุกคนเมื่อได้ทราบถึงเรื่องราวเหล่านี้ ผมก็มั่นใจว่าเกิน 90% คงเห็นภาพออฟฟิศสวยๆ บ้านเนี้ยบๆ หรือไม่ก็แค่สมาร์ทโฟนบนฝ่ามือตัวเอง
แต่ภาพหนึ่งที่น้อยคนนักจะนึกถึงคือภาพของทุ่งที่เขียวขจี สัญลักษณ์ของภาคการเกษตร ซึ่งเคยเป็นถึงกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในอดีต และยังคงมีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยในปัจจุบัน ด้วยรายได้ที่คิดเป็นมูลค่าราว 10% ของ GDP ไทย ขณะพื้นที่สำหรับการเกษตรนั้น ก็ครอบคลุมบริเวณถึง 43% ของประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านอาจจะพอผ่านตามาบ้างว่าช่วงปลายปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ได้นำตัวอย่างความสำเร็จของพันธมิตรไทยอย่าง บลู โอเชียน เทคโนโลยี ผู้พัฒนาระบบฝึกสอนคนขับรถตัดอ้อยแบบเสมือนจริง ที่นำเทคโนโลยี VR และ machine learning มาย่นย่อเวลาในการฝึกฝนให้สั้นลงมาก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผลงานที่ยอดเยี่ยมจากการคิดนอกกรอบด้วยเทคโนโลยี
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังมองว่าอุตสาหกรรมการเกษตรยังเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมายให้เทคโนโลยีได้เข้าไปมีบทบาท เพราะท้ายที่สุดแล้ว ภาคการเกษตรทั่วโลกยังมีภารกิจที่ท้าทายไม่น้อยกับการผลิตอาหารให้เพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จาก 7,700 ล้านคนเป็นกว่า 10,000 ล้านคนในปี 2050 นอกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแล้ว พฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้คนจำนวนมากก็ยังเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่คาดการณ์กันว่าเกษตรกรอาจต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้สูงขึ้นถึง 70% โดยที่อาจมีพื้นที่เพาะปลูกและทรัพยากรต่างๆ ในระดับที่ไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าไรนัก
นอกจากโจทย์ใหญ่นี้แล้ว เรายังต้องพิจารณาถึงช่องว่างด้านเงินทุนและทรัพยากรระหว่างเกษตรกรรายใหญ่และรายย่อย เพราะถึงแม้ว่าธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเกษตรจะมีเงินทุนและศักยภาพในการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เราจะลืมไม่ได้ว่ากำลังการผลิตอาหารทั่วโลกกว่า 70% มาจากเกษตรกรรายย่อยนับล้านคนทั่วโลก ซึ่งโดยเฉลียแล้ว แต่ละคนมีที่ดินสำหรับการเพาะปลูกเพียงเล็กน้อย ทั้งยังขาดเงินทุนและโครงสร้างพื้นฐานจนอาจไม่สามารถเข้าถึงได้แม้แต่เทคโนโลยีขั้นแรกเริ่มเสียด้วยซ้ำ
ในประเทศอินเดีย ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับสถาบันวิจัยพืชการเกษตรในพื้นที่กึ่งแห้งแล้งเขตร้อน (ICRISAT) มอบแพลตฟอร์มคลาวด์และ AI เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI Sowing ซึ่งนำข้อมูลสภาพอากาศที่ครอบคลุมช่วงเวลากว่า 30 ปีมาวิเคราะห์และให้คำแนะนำว่าเกษตรกรควรเริ่มปลูกพืชผักเมื่อใด ฝังเมล็ดลึกมากน้อยเพียงใด ใส่ปุ๋ยมากขนาดไหน โดยแจ้งข้อมูลทั้งหมดนี้ผ่านระบบ SMS จึงทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากนวัตกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนกับสมาร์ทโฟน ขณะที่คำแนะนำจากแอปนี้ก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ปริมาณมากขึ้นถึง 10-30% โดยเฉลี่ย
หรือหากเกษตรกรท่านไหนมีเงินทุนหมุนเวียนมากพอที่จะลงทุนกับอุปกรณ์เพิ่มเติมบ้าง เราก็มีตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ FarmBeats ในสหรัฐอเมริกามาเล่าเป็นแรงบันดาลใจ เพราะเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ได้นำเซ็นเซอร์และโดรนถ่ายภาพทางอากาศมาช่วยเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่เพาะปลูก เพื่อทำการวิเคราะห์โดยละเอียดในทุกตารางนิ้ว จึงทำให้เจ้าของฟาร์มทราบถึงจังหวะที่ดีที่สุดสำหรับการหว่านเมล็ด รดน้ำ ใส่ปุ๋ย หรือเก็บเกี่ยวพืชแต่ละชนิดในแต่ละแปลง
ส่วนในบ้านเรา เชื่อว่าอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นโครงการนำร่องในด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรจากความร่วมมือกับภาครัฐออกมาสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรต่อไป
ตัวอย่างความสำเร็จจากเรือกสวนไร่นาทั้งหมดนี้ เป็นตัวเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่แท้จริงของเทคโนโลยีอย่างคลาวด์ AI หรือ IoT เพราะการขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น คงต้องเป็นเรื่องรองหากนำไปเทียบกับเรื่องของอาหารการกินและคุณภาพชีวิตของทุกคน