นายอาภากรณ์ เก่งการนา นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนทีมนักศึกษารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโครงการ กล่าวว่า “ผลงานการสร้างสรรค์เครื่องมือสำหรับจัดการข้อเสนอแนะของลูกค้าสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีของพวกเราได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริหารของแบรนด์ชานม KAMU ซึ่งเล่าว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากลูกค้ามีความสำคัญยิ่งต่อธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แต่ปัจจุบัน ข้อเสนอแนะจากลูกค้าได้ส่งผ่านมาหลากหลายช่องทาง ทำให้ยากต่อการรวบรวมและติดตามข้อเสนอแนะจากลูกค้า การจัดฝึกอบรมโดยไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ ทั้งเรื่องการออกแบบความคิด การสื่อสาร รวมถึงการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะในการสื่อสารและเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้า ฝึกทักษะในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการคิดแบบเชื่อมโยงเป็นภาพรวมและสร้างสรรค์โซลูชั่นที่ช่วยให้แบรนด์ KAMU สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบ โดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญจากไมโครซอฟท์และเอไอเอสตลอดโครงการ”
นายธณิศร จันทร์สำเร็จ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนทีมนักศึกษารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของโครงการ กล่าวว่า “กลุ่มของเราได้นำเสนอโซลูชั่นสำหรับคลินิคสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากสมาชิกคนหนึ่งของทีมที่เข้าไปใช้บริการคลินิกสัตวแพทย์อยู่เป็นประจำ โดยโซลูชั่นดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาในการจองคิว ด้วยการรวบรวมระบบการจองผ่านไมโครซอฟท์เป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่น ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกบริการ ตรวจสอบค่าใช้จ่าย และกำหนดเวลาการนัดพบสัตวแพทย์ตามเวลาที่สะดวก ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าแล้ว บริการการจองคิวล่วงหน้ายังช่วยลดความแออัด สอดคล้องกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมในปัจจุบัน โดยหลังจากที่ลูกค้าได้ทำการจองคิวเข้ามาแล้ว ระบบจะเข้าไปล็อกปฏิทินของสัตวแพทย์ท่านนั้นๆ โดยอัตโนมัติ และแชทบ็อทผ่าน Microsoft Teams จะส่งข้อความแจ้งเตือน 15-30 นาทีก่อนเวลานัด นอกจากนี้ เรายังได้ใช้ Power Automate เข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการทำงานและการใช้กระดาษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การแข่งขันครั้งนี้ทำให้เราได้มีโอกาสฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นทีมอย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมให้กับเราก่อนเข้าสู่โลกของการทำงานในอนาคต”
นางสาวธนิษฐ์ หนูขาว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ตัวแทนทีมนักศึกษารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ของโครงการ กล่าวว่า “เนื่องจากเราได้พบเห็นว่าธุรกิจชาบูมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ด้วยความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัยอย่างต่อเนื่อง ทีมของเราจึงได้สร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารชาบูสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหน้าร้าน การจัดการภายในครัว การจัดการวัตถุดิบ ไปจนถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายภายในร้าน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย โดยเราได้นำเครื่องมือของไมโครซอฟท์และเอไอเอสที่เราได้เรียนรู้วิธีการใช้งานผ่านการฝึกอบรมที่ทางโครงการจัดขึ้นเข้ามาอำนวยความสะดวก การจัดฝึกอบรมผ่านไมโครซอฟท์ ทีมส์ ช่วยให้เรามีความเข้าใจมากขึ้น เรียนรู้ได้ไวขึ้น และแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เรายังได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากพี่ๆ ที่เป็นที่ปรึกษาในโครงการ ทำให้เราได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ต้องขอขอบคุณพี่ๆ จากไมโครซอฟท์และเอไอเอสที่ให้โอกาสพวกเราได้มาเก็บประสบการณ์ดีๆ ในครั้งนี้ พวกเราตั้งใจว่าจะนำทักษะที่เราได้เรียนรู้ไปพัฒนาต่อยอดทั้งในวิชาเรียนและการทำงานในอนาคตค่ะ”