กรุงเทพฯ 4 กุมภาพันธ์ 2564 – ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลแห่งอนาคต Azure Synapse Analytics ที่พร้อมเร่งเครื่องให้องค์กรไทยใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ได้รวดเร็วและกว้างขวางกว่าเดิม พร้อมผสมผสานศักยภาพจากทุกแหล่ง ทุกคลังข้อมูล และทุกระบบวิเคราะห์ให้เป็นหนึ่งเดียว
“การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก ทำให้ธุรกิจในยุคนี้มีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณที่สูงกว่าแต่ก่อนมาก และยังมาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งข้อมูลแบบมีโครงสร้าง (structured data) และไร้โครงสร้าง (unstructured data) ซึ่งโดยปกติแล้ว มักต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันในการจัดการและวิเคราะห์” วสุพล ธารกกาญจน์ ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ กล่าว “Azure Synapse Analytics เป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์การพัฒนาบริการด้านข้อมูลของเราที่มุ่งตอบสนองความต้องการของคนทำงานให้ตรงเป้ามากขึ้น โดยแทนที่จะพัฒนาคุณสมบัติใหม่ ๆ ให้กับบริการข้อมูลที่มีความสามารถแตกต่างกันไป เราเลือกที่จะนำความสามารถที่ต่างกันเหล่านั้นมาผนึกรวมกันเป็นบริการเดียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหา จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลทั่วทั้งองค์กรได้จากที่เดียว พร้อมลดการแบ่งแยกข้อมูลและความรู้ของแต่ละหน่วยงานในองค์กร ทำให้ทุกฝ่ายประสานพลังจากข้อมูล ขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าเป็นหนึ่งเดียว”
ระบบวิเคราะห์ข้อมูลในแบบเดิม ที่ยังแตกแยกออกเป็นเครื่องมือและกระบวนการหลายขั้นตอน ทำให้วิศวกรข้อมูล (data engineer) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) และนักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) ต้องพึ่งพาเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันไปในภารกิจของตนเอง จนทำให้การจัดทำรายงานวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดเพียงฉบับเดียว อาจต้องอาศัยการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมหาศาลแบบซ้ำซ้อนไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือหลายชุดพร้อม ๆ กัน และก่อนที่จะนำมารวมกันเพื่อสรุปเป็นรายงานที่ใช้งานทางธุรกิจได้จริงนั้น ก็อาจต้องอาศัยแรงและเวลาอยู่ไม่น้อยในการเขียนโค้ดใหม่มาผสานทุกอย่างให้เข้ากันได้
“Azure Synapse มอบความรวดเร็วและคล่องตัวในการทำงานกับข้อมูลทั้งในรูปแบบ Data Lake และ Data Warehouse บนแพลตฟอร์มเดียว พร้อมรองรับการทำงานกับหลากหลายระบบฐานข้อมูลที่องค์กรอาจมีอยู่เดิม ผ่านเครื่องมือหนึ่งเดียวอย่าง Synapse Studio ที่ใช้งานได้หลายแบบ ทั้งด้วยการเขียนโค้ดเป็นหลักในแบบที่คนทำงานกับข้อมูลคุ้นเคยดี และแบบที่ไม่ต้องเขียนโค้ดเลย ซึ่งอาจตอบโจทย์บุคลากรในสายธุรกิจมากกว่า โดยท้ายที่สุดแล้ว Azure Synapse สามารถย่นย่อเวลาในการเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นทรัพยากรประกอบการตัดสินใจ จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน ให้เห็นผลได้ภายในไม่กี่วันเท่านั้น” นายวสุพลกล่าวเสริม
ก้าวสู่ยุคคลาวด์อย่างเต็มตัว กับเอนจินใหม่ที่รองรับข้อมูลทุกสเกล ให้นักพัฒนาทำงานได้อย่างใจคิด
Azure Synapse มีรากฐานอยู่บนเอนจินประมวลผลคำสั่ง SQL รุ่นใหม่ ที่ออกแบบขึ้นเพื่อการทำงานบนคลาวด์โดยเฉพาะ รองรับการประมวลผลได้ในหลากหลายสภาวะการใช้งาน นับตั้งแต่ทรัพยากรระบบในระดับแค่หน่วยประมวลผลตัวเดียว ไปจนถึงการกระจายงานสู่โหนดนับพัน ส่วนการผนึกเอา Apache Spark เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของ Synapse ยังช่วยให้ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของข้อมูลและการวิเคราะห์ด้วย Machine Learning มีศักยภาพที่หลากหลายและครบครันมากยิ่งขึ้น เพิ่มทางเลือกควบคู่ไปกับการใช้งาน SQL
นอกจากนี้ Azure Synapse ยังทำงานประสานกับโซลูชั่นข้อมูลของไมโครซอฟท์อย่าง Power BI และ Azure Machine Learning ได้อย่างลงตัว โดยผู้ใช้สามารถใช้งาน Power BI เพื่อสร้างรายงานหรือแดชบอร์ดจากข้อมูลได้จากใน Synapse Studio โดยตรง จึงสามารถเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ Azure Machine Learning ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหารูปแบบและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ทันที โดยไม่ต้องถ่ายโอนข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมืออื่น
นายวสุพลเผยอีกว่า “Azure Synapse พัฒนาขึ้นมาจากรากฐานของคลาวด์ จึงสามารถเพิ่มลดการใช้งานได้ตามความต้องการจริงของลูกค้า โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ กับประสิทธิภาพหรือความเสถียรของระบบ แต่เพิ่มความยืดหยุ่นให้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการใช้งานได้แม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนในด้านความปลอดภัยนั้น Azure Synapse ไม่ได้เพียงอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์มาตรฐานระดับโลกที่มั่นใจได้เท่านั้น แต่ยังลดความเสี่ยงด้วยการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้บนแพลตฟอร์มเดียว ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายถ่ายโอนไปใช้งานกับแพลตฟอร์มอื่นอีก จึงทำให้ต้องดูแลความปลอดภัยเพียงจุดเดียวเท่านั้น”
เริ่มเดินหน้าหนุนธุรกิจไทย พร้อมพิสูจน์ศักยภาพบนเวทีโลก
ฐานลูกค้าที่เลือกใช้งาน Azure Synapse ทั่วโลกกำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยหลังจากที่ไมโครซอฟท์ได้ประกาศการพัฒนา Azure Synapse ออกไปเมื่อปี 2562 ปรากฏว่ามีฐานลูกค้าบนคลาวด์ Azure ที่ทำงานกับข้อมูลในระดับเพตะไบต์ (หรือคิดเป็นราว 5 แสนล้านหน้ากระดาษ) เพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่าตัว
เฟดเอ็กซ์ คือหนึ่งในลูกค้าที่ใช้ข้อมูลในระดับนี้ โดยปัจจุบัน Azure Synapse ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ FedEx Surround ที่บริษัทพัฒนาขึ้นร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานของลูกค้าให้กลายเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สามารถใช้ข้อมูลบริหารจัดการและติดตามสินค้าทุกชิ้นได้แบบเรียลไทม์
ในแต่ละวัน เฟดเอ็กซ์ต้องนำส่งพัสดุกว่า 16 ล้านชิ้น โดยแต่ละชิ้นต้องผ่านการสแกนข้อมูลเกินกว่า 12 ครั้ง ก่อนที่จะส่งถึงปลายทาง ข้อมูลที่ได้จากการสแกนแต่ละครั้งจะถูกนำไปผสมผสานกับข้อมูลด้านสถานะการจราจรและสภาพอากาศ ก่อนจะนำไปประมวลผลด้วย Azure Synapse และ FedEx Surround ให้ออกมาเป็นข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับใช้ในการส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยนอกจากการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ทั่วไปแล้ว เฟดเอ็กซ์ยังมีแผนที่จะนำ FedEx Surround และ Azure Synapse มาสนับสนุนการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ให้ถึงที่หมายได้ฉับไว ลดความเสี่ยงที่วัคซีนจะเสื่อมสภาพหรือพ้นอายุการใช้งานในระหว่างจัดส่งลงให้น้อยที่สุด
สำหรับในประเทศไทย มีองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมที่เลือกไว้วางใจใน Azure Synapse โดยรวมถึง 13 บริษัทในดัชนี SET50 ด้วย
ผู้สนใจสามารถทดลองใช้งาน Azure Synapse ได้ผ่านเครดิตมูลค่า 200 เหรียญสหรัฐ ที่มอบให้กับลูกค้าใหม่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเปิดให้ลูกค้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งาน Azure Synapse เบื้องต้นได้ผ่าน Microsoft Docs และลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเจาะลึกได้ที่ http://aka.ms/MSDataSummitTH