ไมโครซอฟท์ จับมือ SIT KMUTT จัดการแข่งขัน AI for Accessibility Hackathon ชูไอเดียหนุนผู้พิการขยายขีดความสามารถด้วย AI และคลาวด์

people smiling

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (SIT KMUTT) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมป์ สานต่อโครงการระดับโลก AI for Accessibility ผ่านกิจกรรมแฮกกาธอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา มจธ. ได้มีโอกาสนำเสนอไอเดียการขยายขีดความสามารถและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI และคลาวด์ โดยมุ่งตอบโจทย์ใน 4 มิติหลักๆ ได้แก่ การใช้ชีวิตประจำวัน การติดต่อสื่อสารและการมีส่วนร่วมในสังคม โอกาสในการได้รับการจ้างงาน และการศึกษา โดยแฮกกาธอนรายการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 และสิ้นสุดลงด้วยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงฯ ทั้งหมด 7 ทีม

สำหรับทีมชนะเลิศจากการแข่งขันแฮกกาธอนในปีนี้ ได้แก่ทีม DEVA ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นางสาวฤทัยธัมม์ โสฬศ  นางสาวญภา วิณวันก์  นายสกลกฤษฏิ์ เพ็งขำ และนางสาวพิชญาภา คณาพัฒนวงศ์ จากผลงานแนวคิดการนำ Generative AI ภายใต้ชื่อ “NEON” มาช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถออกแบบและเขียนสไลด์สำหรับการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยการสั่งผ่านเสียงพูด จึงนับเป็นการเติมเต็มความสามารถในการทำงานของผู้พิการทางสายตาและเพิ่มโอกาสความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย

แอปพลิเคชัน NEON มีจุดเด่นด้านการใช้งานง่าย เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ และได้รับการออกแบบเพื่อผู้พิการทางสายตา โดยเจาะกลุ่มผู้พิการทางสายตาที่เป็นนักศึกษาและวัยทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างสไลด์เพื่อนำเสนองานต่าง ๆ สำหรับแอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่ AI ที่สามารถสร้างสไลด์และภาพประกอบตามไอเดียและคำสั่งของผู้ใช้ได้โดยอัตโนมัติ ระบบรับคำสั่งด้วยเสียง และชุดเทมเพลตสไลด์ต้นแบบที่สามารถนำมาเป็นจุดตั้งต้นในการร่างงานและปรับแต่งต่อไป โดย นางสาวพิชญาภา คณาพัฒนวงศ์ ตัวแทนจากทีม DEVA เผยว่า “พวกเราเคยเข้าร่วมการแข่งขัน Microsoft AI for Accessibility ในปีที่แล้ว หลังจากที่ได้ทำการวิจัยกลุ่มเป้าหมายก็พบว่าผู้พิการทางสายตาสามารถทำทุกอย่างได้ไม่ต่างจากผู้ที่มีสายตาปกติ เราจึงเริ่มต้นทำโปรเจกต์นี้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้พิการทางสายตา ปัจจุบัน ผู้พิการกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับผู้ที่มีสายตาปกติ โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารและการนำเสนอ จึงมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาไอเดียสุดท้าทายนี้เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถนำมาใช้งานได้อย่างง่ายดาย”

สำหรับรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการ 5 ท่าน ได้แก่ คุณโอม ศิวะดิตถ์ National Technology Officer ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย, คุณวสุพล ธารกกาญจน์ Microsoft Azure Business Group Director ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย, คุณอนุพนธ์ เซ็นสาส์น กรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, ดร. พิสิฐ พฤกษ์สถาพร เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิจัยโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และ ดร. นิวรรณ วัฒนกิจรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมตัดสิน

การแข่งขันแฮกกาธอน AI for Accessibility ของไมโครซอฟท์จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่ผู้พิการกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก และกว่า 650 ล้านคนในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไมโครซอฟท์ดำเนินงานตามพันธกิจในการเสริมศักยภาพให้ทุกคนและองค์กรบนโลกใบนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาขับเคลื่อนให้ผู้พิการใช้ชีวิตและเติบโตได้อย่างเท่าเทียมในสังคม