ความมุ่งมั่นครั้งสำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI
สนับสนุนแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล 2025
จาการ์ตา 30 เมษายน 2567 – ไมโครซอฟท์ประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้บุคลากรจำนวน 2.5 ล้านคนในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ภายในปี 2568 ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรไม่แสวงผลกำไร องค์กรธุรกิจ รวมถึงชุมชนต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
ความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025) ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI ในภูมิภาคนี้ ตลอดจนต่อยอดเป้าหมายสำคัญของไมโครซอฟท์ในการส่งเสริมให้กับบุคคล องค์กร และชุมชนในประเทศอาเซียน สามารถนำศักยภาพของ AI มาใช้ขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “เราชื่นชมในความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ที่จะยกระดับทักษะด้าน AI ให้กับเยาวชนในอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียน 2025 การส่งเสริมอีโคซิสเท็มของบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของทั้งภูมิภาค”
พันธกิจในการส่งเสริมทักษะด้าน AI ของไมโครซอฟท์มุ่งเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ สร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับ AI โดยครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำด้านทักษะ เพิ่มปริมาณบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมทักษะ AI ของนักพัฒนา ตลอดจนเสริมศักยภาพให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมได้อย่างสูงสุด
โครงการนี้ยังต่อยอดการดำเนินงานมาอย่างยาวนานของไมโครซอฟท์ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัลในประเทศอาเซียน โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลผ่านโครงการ Skills4Jobs แล้วกว่า 1.7 ล้านคน
แอนเดรีย เดลลา แมทเทีย ประธาน ไมโครซอฟท์ อาเซียน กล่าวว่า “แนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นประเด็นที่โดดเด่นและพูดถึงอย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน ไมโครซอฟท์จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนพัฒนาทักษะด้าน AI ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังได้รับผลประโยชน์ที่ตามมาร่วมกัน ด้วยบุคลากรคุณภาพเหล่านี้ ภูมิภาคอาเซียนก็จะมีบุคลากรที่มีทักษะสูง รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยกระดับให้ทั้งภูมิภาคสามารถแข่งขันทางเทคโนโลยีในระดับโลกได้”
สร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับ AI และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
โลกยุคดิจิทัลมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ดังนั้น สถาบันอาชีวศึกษานับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการและบทบาทของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ไมโครซอฟท์เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอาชีวศึกษาทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยร่วมกับมูลนิธิอาเซียนและกระทรวงศึกษาธิการในประเทศสมาชิก 10 ประเทศเพื่อฝึกอบรมทักษะ AI ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนอาชีวศึกษาราว 644,000 คนได้รับประโยชน์
ไมโครซอฟท์จะร่วมกับมูลนิธิอาเซียนในการสอนและฝึกอบรมทักษะ AI สายอาชีพให้แก่นักเรียน ผ่านโครงการ AI TEACH for Indonesia และ AI TEACH Malaysia นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังให้ความรู้และฝึกอบรม ด้าน AI ข้อมูล และความปลอดภัย แก่เยาวชนและผู้ว่างงานที่ด้อยโอกาสจำนวน 100,000 คน ผ่านความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่กับ Kartu Prakerja ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษานอกระบบเพื่อพัฒนาทักษะที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
สำหรับในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสถาบันการอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะ AI เพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry) เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวน 100,000 รายที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองรองทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศไทย
ในประเทศฟิลิปปินส์ ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้แก่นักเรียน 1 ล้านคน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลายในสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเด็กและเยาวชนมีความพร้อมสำหรับอาชีพและการจ้างงานในอนาคต นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะสานต่อความร่วมมือกับ Technical Education and Skills Development Authority (TESDA) โดยลงทุนในโครงการใหม่เพื่อฝึกอบรมทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้นักเรียนหญิงจำนวน 100,000 คนในสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความหลากหลายของบุคลากรให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของประเทศ
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะขยายความร่วมมือกับ United Nations Development Programme (UNDP) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในอินโดนีเซียไปยังมาเลเซียและเวียดนาม เพื่อขยายโอกาสให้เยาวชน 570,000 คนจากชุมชนที่ด้อยโอกาส ในการจ้างงานและพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเปิดให้เข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมทักษะการใช้งาน AI
ปั้นบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ลดความเหลื่อมล้ำและเติมเต็มความต้องการแรงงาน
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 มีการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ถึง 2.7 ล้านคน ขณะที่ความสามารถในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย AI เป็นที่สิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ยุคใหม่
ภายใต้โครงการส่งเสริมทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ไมโครซอฟท์ร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อมอบทางเลือกด้านสายอาชีพให้กับเยาวชนที่ด้อยโอกาส ในการก้าวเข้าสู่สายอาชีพในอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์
โครงการ Ready4AI&Security ของไมโครซอฟท์ จะฝึกอบรมเยาวชนจำนวน 15,000 คนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อมอบโอกาสให้ผู้หญิงในการก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเปิดให้เข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมและประกาศนียบัตรด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์
เสริมทักษะ AI ให้นักพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมุ่งสนับสนุนนักพัฒนากว่า 7 ล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียน ผ่านโครงการ Asia AI Odyssey ซึ่งรวบรวมกิจกรรมและหลักสูตรด้านทักษะ AI สำหรับการใช้งานจริง ติดอาวุธให้นักพัฒนาสามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่โดดเด่นและแตกต่างด้วยพลังจาก AI ทั้งนี้ แคมเปญ Asia AI Odyssey ครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย มีเป้าหมายที่จะเสริมทักษะด้าน AI ให้กับนักพัฒนาในอาเซียนรวม 30,000 ราย พร้อมปูทางสู่การขยายบทบาทของ AI ในเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต
ยกระดับองค์กรไม่แสวงผลกำไร ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าในสังคม
ในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ไมโครซอฟท์จะจัดการประชุมผู้นำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Nonprofit Leaders’ Summit ขึ้น เพื่อแบ่งปันทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรวม 1,500 คน
นอกจากนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในภูมิภาคอาเซียนยังจะมีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้จากไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Resources Hub หรือ LinkedIn for Nonprofits Resource Hub เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสังคมทุกภาคส่วน พร้อมร่วมขับเคลื่อนกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค AI ไปพร้อมกัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางเยือนประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนของนายสัตยา นาเดลลา และแนวทางของไมโครซอฟท์ในการยกระดับองค์กรทั่วอาเซียนด้วย AI สามารถค้นหารายละเอียดได้ที่ https://news.microsoft.com/thailand-visit-2024/