รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ ประกาศความร่วมมือ เพื่อนำประเทศไทยมุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI

Microsoft CEO and Thai Prime Minister

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (กลาง) พร้อมด้วยนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ (ซ้าย)
และนายอาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย (ขวา)

ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพทางดิจิทัลของประเทศไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน พร้อมปูทางสู่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มี AI และคลาวด์เป็นหัวใจหลัก

กรุงเทพฯ / ซานฟรานซิสโก  16 พฤศจิกายน 2566 – รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพจากไมโครซอฟท์มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการจ้างงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทั้งในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ได้ร่วมพบปะหารือกันที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
    ไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท
  • ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI
    ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
  • เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า
    ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
  • ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
    หน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “พันธกิจของประเทศไทย นับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน นับว่ามีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน”

นายอาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยี AI มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานของทั้งผู้คนและองค์กรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น แผนปฏิบัติการของรัฐบาลได้วางเป้าหมายในการนำ AI มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570[1] และเราก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มี AI เป็นนวัตกรรมคู่คิดของประเทศไทย”

[1] แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (สิงหาคม 2566)