จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้เล็งเห็นคุณค่าในสะเต็มศึกษา
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมดิจิเกิร์ลซ์ 2017 (DigiGirlz 2017) เพื่อให้เด็กผู้หญิงในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตระหนักถึงประโยชน์ของสะเต็มศึกษา – STEM: Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Mathematics (คณิตศาสตร์) โดยงานแบ่งออกเป็น 3 ช่วงกิจกรรมอันสนุกสนานและเต็มไปด้วยความรู้ รวมถึงเวิร์กช็อปที่เกี่ยวข้องกับวิชาสะเต็ม เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือเรียนรู้และปฏิบัติจริง
คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ณ งานเปิดตัวกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ ในประเทศไทย ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมไอทีคิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านฝ่ายขายและการตลาด ในขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้งและสายงานด้านเทคโนโลยียังคงมีจำนวนน้อยมาก เหตุผลเป็นเพราะว่าผู้หญิงส่วนมากไม่สนใจที่จะเลือกเรียนสะเต็มศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและดูไม่สวยงามเหมาะกับผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากว่าเรายังคงไม่เปลี่ยนมุมมองที่ว่าสะเต็มศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะของผู้ชาย เนื่องจากมุมมองที่ผิดเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้หญิงเสียเปรียบในตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้น เราจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ สถานศึกษาและรัฐบาลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมกันสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้ ไมโครซอฟท์ภูมิใจที่จะเป็นผู้นำในการสานต่อภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือมาจากที่ไหนก็ตาม”
เด็กผู้หญิงจำนวนกว่า 120 คน อายุ 12 ถึง 18 ปี ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับฟังคำแนะนำจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็นและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หลังจากคุณชุติมาฯ กล่าวเปิดงานแล้ว คุณสาธิมา (แพร) โล่ห์วัชรสันติ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด สาวเก่งที่นำน้องๆ ร่วมกิจกรรมช่วง Design Thinking ที่กระตุ้นให้เด็กๆ ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ กล่าวสรุปว่า “ ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแพรในการทำงานด้านไอที คือการที่เราสามารถมองเห็นสิ่งที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นได้ การตัดสินใจและทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเราต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบในทุกๆ การตัดสินใจ ทั้งต่อสังคมและต่อตนเอง แต่แพรไม่เคยเสียใจที่ได้ตัดสินใจมาทำงานสายเทคโนโลยีเลย และได้พยายามอย่างดีที่สุดในทุกอย่างที่ทำ วันนี้ได้เห็นสีหน้าที่แจ่มใสของน้องๆ รู้สึกตื้นตันใจและภูมิใจมาก ขอให้จงอย่ากลัวที่จะทำตามความฝัน และให้โอกาสตัวเองในการค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่”
กิจกรรมในตอนบ่ายประกอบไปด้วยช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารหญิงหลายท่าน ทั้งจากไมโครซอฟต์ บริษัทด้านไอที และมหาวิทยาลัย อาทิ ดร.ธีรณี อจลากุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณนารีรัตน์ แซ่เตียว ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท InsightEra โดยพวกเธอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนด้านสะเต็ม และทำงานในสายนี้ รวมทั้งอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเธอพบเจอ พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับน้องๆ
ดร.ธีรณี อจลากุล เล่าว่า “สมัยก่อน เทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเท่านั้น แต่ในประเทศไทยยุคปัจจุบัน สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เด็กผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะเรียนในสายสะเต็ม ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะการเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่งต้องการทั้งทักษะด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ผสมกัน การออกแบบซอฟต์แวร์ที่ดี ไม่สามารถใช้ความสามารถด้านโค้ดดิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความพิถีพิถันในรายละเอียดต่างๆ และปรับให้เข้ากับความต้องการและอารมณ์ของคนด้วย สายอาชีพด้านเทคโนโลยีนี้จึงไม่ใช่งานของผู้ชายเท่านั้น แต่เป็นงานของทุกคน ดังนั้น ถ้าชอบเทคโนโลยี จงอย่าลังเลที่จะเดินบนเส้นทางนี้ และทำให้ดีที่สุด”
คุณนารีรัตน์ แซ่เตียว ได้เล่าถึงประสบการณ์และเส้นทางการก้าวสู่การเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท InsightEra หนึ่งในบริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเซียลมิเดียและคอนเทนต์การตลาด และกล่าวสรุปว่า “ไม่เคยเสียใจที่ได้ตัดสินใจเรียนในสายเทคโนโลยี เพราะมันไม่น่าเบื่อ และรู้สึกสนุกมากเมื่อได้สัมผัสและอยู่กับมัน การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดเรามากที่สุด ในอีกสองสามปีต่อจากนี้พวกเราอาจจะอยู่บนโลกที่ต่างจากยุคที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า จะมาจากการคิดค้นของน้องๆ ที่อยู่ในห้องนี้ ในวันนี้”
หลังจากได้ฟังพี่ๆ คนเก่งแชร์ประสบการณ์ในโลกของสะเต็ม น้องๆ ได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ฝึกโค้ดดิ้งในกิจกรรม Hour of Code
เด็กหญิงอัยยา สุโข อายุ 12 ปี จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า “หนูรักที่จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และสนใจคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมาก การได้เรียนรู้เกี่ยวกับโค้ดดิ้งในกิจกรรมครั้งนี้สนุกมาก และทำให้หนูรู้สึกตื่นเต้นที่จะศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ต่อไป”
ในช่วงท้ายของงาน กิจกรรมช่วงนักเรียนนักประดิษฐ์ (Student Innovator) น้องๆ ที่ผ่านประสบการณ์เวทีการแข่งขันด้านสะเต็มในระดับประเทศได้มาเล่าประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นให้กับเด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนรวมทั้งเด็กหญิงนิรดา ธนาดำรงศักดิ์ สาวน้อยวัย 15 ปี จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย “ได้ฟังพี่ๆ เล่าถึงประสบการณ์การแข่งขันแล้ว รู้สึกเป็นพลังและเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเองมาก พี่ๆ ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นว่า ถ้ารักในสิ่งที่ทำแล้ว เราจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน หนูรู้สึกว่า เลขและวิทยาศาสตร์เป็นอะไรที่ท้าทายแต่ก็น่าดึงดูดมากเช่นกัน กิจกรรมในวันนี้ทำให้หนูอยากตั้งใจเรียนในวิชาเหล่านี้มากขึ้นในอนาคตค่ะ”
ดิจิเกิร์ลซ์ เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ไมโครซอฟท์ได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รวมทั้งเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน กิจกรรมดิจิเกิร์ลซ์ได้จัดขึ้น ณ สำนักงานไมโครซอฟต์ต่างๆ ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสายอาชีพด้านเทคโนโลยีแก่เด็กผู้หญิง