ไมโครซอฟท์เผยผลสำรวจจากผู้นำภาคธุรกิจการแพทย์ในเอเชีย โดยร้อยละ 77 เห็นด้วยว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลเพื่อความสำเร็จในอนาคต
กรุงเทพฯ – 14 พฤศจิกายน 2560 – ผลการสำรวจผู้นำภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมการแพทย์ในเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยของไมโครซอฟท์ เอเชีย ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปด้วยดิจิทัล[1] เผยว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวทางการทำธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ โดยร้อยละ 77 เชื่อว่าต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 25 ที่มีแผนกลยุทธ์ธุรกิจเรียบร้อยแล้ว และร้อยละ 45 อยู่ในขั้นตอนเพื่อพิจารณาหน่วยงานในการนำร่องการปฏิรูปด้วยดิจิทัล ขณะที่ร้อยละ 30 ยังขาดความพร้อมในเชิงกลยุทธ์
ผลสำรวจของไมโครซอฟท์ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปด้วยดิจิทัลในเอเชีย ทำการสำรวจผู้นำภาคธุรกิจจำนวน 1,494 คนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ที่ทำงานในองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 250 คน จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวันและไทย โดยผู้ทำแบบสำรวจเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ช่วยพัฒนากลยุทธ์ดิจิทัลให้องค์กร ซึ่งรวมถึงธุรกิจการแพทย์จำนวน 247 แห่ง
นางสาว ทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากผลสำรวจของไมโครซอฟท์ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปด้วยดิจิทัลในเอเชีย พบว่าอุตสาหกรรมการแพทย์ในเอเชีย แปซิฟิก เริ่มมีความตื่นตัวและมองเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อเตรียมตัวรับความท้าทายและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ข้อมูลหรือ data เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงานทางการแพทย์จากแบบเดิมสู่แบบใหม่ ด้วยการบริหารจัดการสุขภาพของบุคคลและสาธารณสุขโดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เราจึงอยากผลักดันให้ผู้นำภาคธุรกิจก้าวสู่การปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างน่าเชื่อถือ”
โรงพยาบาลพระรามเก้า มุ่งยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยดิจิทัล
ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับองค์กรในทุกอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเป็นกำลังผลักดันการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ไมโครซอฟท์เข้ามามีบทบาทในการช่วยส่งเสริมการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร พนักงาน ตลอดจนคนไข้หรือลูกค้าของโรงพยาบาล
แพทย์หญิง ปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายสารสนเทศ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีสาขา มีพนักงานกว่า 1,200 คน และมีผู้ป่วยนอกมารับบริการเฉลี่ย 1,100 คนต่อวัน ดังนั้นโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องขยายอาคารและปรับปรุงระบบเพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ตอบรับการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลของโรงพยาบาล ดังนั้น เมื่อโรงพยาบาลเติบโตขึ้นเราจึงต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงและหาวิธีดูแลและวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงเห็นว่าต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร และเสริมสร้างความเชื่อมั่นตามพันธกิจของเรา โดยเริ่มต้นจากระบบสำรองข้อมูลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือ Disaster Recovery ด้วยการจัดเก็บข้อมูลการทำงานของโรงพยาบาลรวมไปถึงข้อมูลคนไข้บนคลาวด์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลจะสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างแม่นยำแม้จะมีเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น นอกจากนั้น วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลพระรามเก้า คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการรวมไปถึงวิเคราะห์ข้อมูลพร้อมจัดสรรวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในการดูแลข้อมูลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันพนักงานกว่า 600 คนจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตามแต่ละหน้าที่รับผิดชอบ คลาวด์จึงเป็นทางเลือกที่ดีมากในการเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อยกระดับการทำงานให้โรงพยาบาลสามารถทำงานได้มั่นใจและยังช่วยลดต้นทุนในการทำงานอีกด้วย”
“เป้าหมายของโรงพยาบาล คือการตั้งเป้าสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ธุรกิจจะต้องดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ในด้านการดูแลรักษาคนไข้ สร้างความเชื่อมั่นโดยการบริหารจัดการข้อมูลคนไข้ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาคนไข้ให้ได้รับการรักษาที่ดีและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ ตรวจสอบพฤติกรรมเชิงลึก ซึ่งระบบจะเข้ามาช่วยป้องกันความผิดพลาดพร้อมแนะนำการบริการได้ ซึ่งโซลูชัน Business Intelligence จากไมโครซอฟท์ ที่ประกอบด้วย SQL Server Enterprise Edition และ Mobile BI ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) ได้เป็นอย่างดี เข้ามาตอบโจทย์การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถนำข้อมูลต่างๆ ในระบบมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงในการดูแลและปกป้องข้อมูลคนไข้ของโรงพยาบาลได้อีกด้วย”
“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ปูทางไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีนวัตกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เครือข่าย IoT (Internet of Things) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) และการผสมผสานโลกดิจิทัลเข้ากับโลกแห่งความจริง (Mixed Reality) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเทคโนโลยีคลาวด์ จะเปิดประตูไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด” นางสาว ทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำภาคธุรกิจการแพทย์มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลกันมากขึ้น ไมโครซอฟท์เชื่อว่า การปฏิรูปทางธุรกิจนี้จะมีความเกี่ยวข้องใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การเสริมศักยภาพให้กับทีมแพทย์ การเข้าถึงคนไข้ การบริหารการรักษาอย่างเหมาะสมและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการใช้งานข้อมูลและคลาวด์ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว”
แพทย์หญิง ปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายสารสนเทศ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวเสริมถึงอนาคตของโรงพยาบาลพระรามเก้าว่า “เรามีการวางแผนระยะยาว 3 ปี ในการบริหารจัดการข้อมูลของโรงพยาบาลให้มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำดาต้าไมน์นิ่งและวิเคราะห์ข้อมูลการแพทย์ (Analytics) เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานของโรงพยาบาล โดยสามารถเข้าถึงตามหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละสายงาน รวมทั้งการบริหารจัดการสินทรัพย์ เช่น การตรวจสอบประวัติการใช้งานของอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งานครั้งถัดไปกับคนไข้อื่น ทั้งหมดนี้ เรามีจุดมุ่งหมายที่อยากให้ทุกคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้จะช่วยให้ทุกคนทำงานง่ายขึ้นและอำนวยความสะดวกลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลหาวิธีรักษาคนไข้ได้อย่างตรงจุด ทั้งยังช่วยต่อยอดพัฒนาโรงพยาบาลในทิศทางที่ดีโดยไม่ก้าวล่วงจริยธรรมทางการแพทย์ โดยในตอนนี้เรากำลังพยายามเร่งปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานของบุคลากร เพื่อนำดิจิทัลเข้ามาช่วยปฏิรูปองค์กรให้มีความมั่นคงและปลอดภัยอย่างยั่งยืน”
นางสาว ทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล คือขุมทรัพย์ทางธุรกิจรูปแบบใหม่ของผู้ให้บริการด้านการแพทย์ โดยร้อยละ 76 ของผู้นำทางธุรกิจเห็นด้วยว่าข้อมูลเชิงลึกจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ให้บริการด้านการแพทย์จึงควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาอย่างต่อเนื่องและช่วยพัฒนาการให้บริการด้านการแพทย์กับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยเฉพาะคลาวด์ การวิเคราะห์ (analytics) และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT (Internet of Things) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมการแพทย์ในการปฏิรูปธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปธุรกิจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องมาพร้อมด้วยแรงสนับสนุนของบุคลากร โดยต้องมาจากการจัดหาเครื่องมือให้พนักงานเพื่อตอบสนองการทำงานให้ตรงจุด การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลและการเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลทั้งหมด”
“องค์กรและคนทั่วไปจะไม่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะเราอยู่ในโลกที่โมบายล์และคลาวด์มีบทบาทสำคัญมากในการดำรงชีวิต การสร้างความมั่นใจทั้งในด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ คือปัจจัยสำคัญในการให้บริการด้านการแพทย์อย่างน่าเชื่อถือในยุคแห่งการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล การปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจำเป็นต้องใช้วิธีการใหม่และมีความผสมผสาน ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญในการลงทุน” นางสาวทาเทียน่า กล่าวเสริม
ภารกิจของไมโครซอฟท์ คือ การเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกนี้บรรลุผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มเทคโนโลยีของตนเองและพัฒนาโซลูชันเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง ไมโครซอฟท์มีเอกลักษณ์ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจทุกขนาดปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจดิจิทัล ด้วยโซลูชันเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น การบริการที่ผสมผสานและการลงทุนเพื่อเทคโนโลยีที่น่าไว้วางใจ ทั้งด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว การควบคุม การปฏิบัติตามกฎระเบียบและมีความโปร่งใส
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวของไมโครซอฟท์ในการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลได้ที่ https://blogs.microsoft.com/transform/
[1] ผลสำรวจของไมโครซอฟท์เรื่องการปฏิรูปด้วยดิจิทัลในเอเชีย จัดทำขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2559 ทำการสำรวจผู้นำภาคธุรกิจจำนวน 1,494 คนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวันและไทย โดยผู้ทำแบบสำรวจเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ช่วยพัฒนากลยุทธ์ดิจิทัลให้องค์กรและทำงานในองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 250 คน